น้องโบว์: ชุติมา นวศรี (ที่ 1 ประเทศ วิชาภาษาไทย o-net ปี 51)
|
ทันทีที่คะแนนสอบวิชาภาษาไทย O-net ประกาศออกมา พี่ๆ ก็รีบเช็คคะแนนกันทันทีว่าใครได้ที่หนึ่งของประเทศ และแล้วก็ไม่ใช่ใครที่ไหนเป็นเด็กดาว้องก์ (อีกแล้วครับท่าน) เธอคือ น้องโบว์ จากรั้วชมพู-ฟ้า หรือสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี เด็กดาว้องก์ของเราได้คะแนนอันดับหนึ่งของประเทศติดต่อกันมาแล้ว 6 ปี ก็มาดูกันซิว่าที่หนึ่งของประเทศเค้าเรียนอย่างไร เรียนหนักแค่ไหนมาติดตามกันนะคะ
พี่แอนน์ : แนะนำตัวเลยค่ะ น้องโบว์ : ชุติมา นวศรี ชื่อเล่นโบว์ค่ะ
พี่แอนน์ : น้องโบว์อยู่โรงเรียนอะไรคะ น้องโบว์ : โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรีค่ะ
พี่แอนน์ : เรียนสายอะไร น้องโบว์ : สายวิทย์ฯ-คณิตฯ ค่ะ
พี่แอนน์ : ผลการเรียนของน้องโบว์ตั้งแต่ ม.4-ม.6 เป็นอย่างไรบ้าง น้องโบว์ : ก็คงเดิมคือเกรด 4.00 ค่ะ
พี่แอนน์ : คงเดิมแต่ 4.00 นะอย่างนี้เค้าเรียกว่าเก่งแล้ว ทุกวิชาเลยหรือเปล่า น้องโบว์ : ค่ะ ทุกวิชาเลย
พี่แอนน์ : ช่วงสอบ O-net น้องโบว์มีเคล็ดลับในการดูหนังสืออย่างไร น้องโบว์ : คือตั้งใจอ่านหนังสือ ไม่วอกแวกหรือกินขนมไปด้วยอ่านหนังสือไปด้วยไม่ทำค่ะ คือถ้าจะกินขนมก็พักกินเลยสำหรับหนูนะคะ ไม่รู้คนอื่นเป็นไง พยายามอ่านและจำที่สำคัญให้ได้ ถ้าอ่านจบแล้วก็ถามตัวเองว่าเราอ่านอะไรไปบ้าง ถ้ายังไม่ได้ความรู้เลยก็ให้อ่านซ้ำ แล้วมันจะเข้าหัวเอง
พี่แอนน์ : อย่างนี้มีการจดโน้ตในเนื้อหาที่สำคัญสำหรับเราไว้อ่านโดยที่เราไม่ต้องกลับไปอ่านหนังสือไหม น้องโบว์ : หนูไม่ได้ทำค่ะ ทำไม่ทัน เพราะหนูอ่านหนังสือช้าและอ่านทุกวิชามันก็ไม่ทันด้วย เลยไม่ได้ทำ
พี่แอนน์ : เมื่อรู้ว่าเราได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งของประเทศความรู้สึกของน้องโบว์เป็นยังไง น้องโบว์ : ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะได้ ตอนที่คะแนนออกก็ว่าคะแนนสูงแล้วแต่ก็ยังไม่คิดว่าได้ที่หนึ่ง หนูก็คิดว่ามีคนจะได้คะแนนมากกว่าหนู เพราะปกติเวลาสอบภาษาไทยหนูได้คะแนนน้อย
พี่แอนน์ : แล้วดีใจหรือภูมิใจไหม น้องโบว์ : ก็ดีใจนะคะที่ได้ ไม่คิดว่าจะได้ ตอนสอบก็พยายาม เพราะคิดว่าภาษาไทยน่าจะได้คะแนนดีที่สุดนะค่ะ
พี่แอนน์ : น้องโบว์อ่านหนังสือเพื่อที่ทุ่มเทให้กับเรื่องนี้ น้องโบว์ : ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจเท่าไหร่ เวลาหนูอ่านวิทย์ เลขมากๆ มันเครียดมันหนัก ก็จะเอาสังคมกับภาษาไทยมาคั่นอ่าน อย่างเวลาเบื่อโจทย์เลขก็เอาโจทย์ภาษาไทยมาทำน่ะค่ะ
พี่แอนน์ : น้องโบว์ไม่ค่อยสนใจวิชาภาษาไทยเท่าไหร่แต่มุ่งวิทย์ เลขมากกว่า น้องโบว์ : ใช่ค่ะ เพราะแต่ละคนคะแนนก็ได้พอๆ กันใช่มั๊ยคะ หนูก็ต้องทำเลขให้คะแนนมากกว่าคนอื่นเลยต้องมุ่งวิชาเลข
พี่แอนน์ : น้องโบว์ทราบได้อย่างไรว่าเราได้อันดับหนึ่งของประเทศมีใครบอกไหมคะ น้องโบว์ : ไม่มีใครบอกค่ะ หนูจะหาช่วงคะแนนว่ามีคนได้คะแนนสูงสุดกี่คน พอไปดูถึงรู้ว่าคะแนนสูงสุดประเทศเป็นเรา มารู้ทีหลังตอนเปิดเว็บดูที่เช็คช่วงคะแนนค่ะ
พี่แอนน์ : แล้วเด็กสายวิทย์ฯ เรียนหนักไหม น้องโบว์ : สายวิทย์ฯ หรือคะ หนูว่าก็ไม่หนักมากนะคะ หนูว่าเรียนสายไหนก็พอๆ กันนะคะ แต่มันจะหนักคนละอย่าง แต่สายวิทย์ฯ มันจะครอบคลุมเกือบทุกวิชา อย่างเรียนฟิสิกส์เวลาคิดเลขเราก็จะคิดได้เร็วคิดง่าย แต่ถ้าเรียนสายศิลป์-คำนวณเวลาคิดเลขเค้าจะว่ายาก แต่จริงๆ มันก็เหมือนๆ กันนะค่ะ แต่สายวิทย์ฯ จะมีพื้นฐานมากกว่าได้เรียนเยอะกว่าค่ะ
พี่แอนน์ : แต่ได้ยินมาว่าเด็กสายวิทย์ฯ เรียนหนักกว่าเด็กสายอื่นๆ จริงไหม น้องโบว์ : เค้าบอกอย่างนั้น แต่หนูไม่ทราบค่ะ
พี่แอนน์ : เคยแอบอิจฉาเด็กสายศิลป์บ้างไหม น้องโบว์ : ไม่เคยค่ะ เพราะหนูชอบวิทย์จึงเลือกเรียนสายวิทย์ฯ -คณิตค่ะ
พี่แอนน์ : น้องโบว์มีทำกิจกรรมอะไรกับทางโรงเรียนบ้างไหมคะ น้องโบว์ : ทำเยอะนะคะ เพื่อนยังถามเลยว่าทำทำไมเดี๋ยวเอนฯ ไม่ติดหรอก เพราะช่วงกีฬาสีเป็นเทอมสอง หนูไปเป็นลีดซึ่งซ้อมหนักมาก พอกลับบ้านมันก็เหนื่อยก็ล้าทำให้ไม่ได้อ่านหนังสือ แต่หนูอ่านหนักช่วงปิดเทอม พอเปิดเทอมได้อ่านวันละหนึ่งชั่วโมงเอง
พี่แอนน์ : น้องโบว์แบ่งเวลาอย่างไรในการเรียนกับการทำกิจกรรม น้องโบว์ : ถ้าทำกิจกรรมก็ทำกิจกรรมอย่างเดียวค่ะ จะไม่เอาหนังสือมาอ่าน เพราะอ่านไปก็รับไม่ได้เต็มที่ ก็ทำให้เสร็จเป็นอย่างๆ ไปมันจะดีกว่าค่ะ
พี่แอนน์ : น้องโบว์อ่านหนังสือทุกวันไหม น้องโบว์ : ไม่ทุกวันนะคะ เพราะช่วงเปิดเทอมเวลาเรียนไม่ค่อยพอ การบ้านก็เยอะยังรายงานอีก ยิ่งช่วงท้ายๆ ก่อนปิดเทอมมันเร่งเพราะมีวันหยุดเยอะ พอหยุดเยอะๆ ทำให้เวลาเรียนไม่พอจึงต้องมาเร่งช่วงท้ายๆ ค่ะ
พี่แอนน์ : มีการกำหนดไหมว่าวันหนึ่งๆ เราจะต้องอ่านหนังสือให้ได้กี่บท น้องโบว์ : คิดนะคะ ตั้งไว้ว่าวันนี้ต้องอ่านให้ได้กี่บท กี่บทแต่อ่านไม่ค่อยถึงค่ะ แต่เวลาอ่านหนูตั้งใจอ่านเต็มที่นะคะ เพียงแต่มันไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ค่ะ
พี่แอนน์ : คุณพ่อ-คุณแม่รู้สึกอย่างไรกับที่น้องโบว์ได้คะแนนอันดับหนึ่งของประเทศ น้องโบว์ : ก็ไม่ทราบค่ะ หนูก็พูดกับคุณพ่อ-คุณแม่ท่านก็คงดีใจเหมือนกัน แต่ท่านบอกว่าน่าจะเป็นวิชาเลขนะเพราะเห็นตั้งใจกับวิชาเลขแต่คะแนนกับไม่ค่อยดี
พี่แอนน์ : คือวิชาที่ตั้งใจได้คะแนนไม่ค่อยดี แต่วิชาที่เราไม่ค่อยทุ่มเทกับได้คะแนนดี น้องโบว์ : ใช่ค่ะ
พี่แอนน์ : แล้วได้รางวัลอะไรบ้างไหม น้องโบว์ : ไม่ได้ค่ะ แต่ท่านก็ชมว่าเก่ง มันเหมือนกับว่าเราเต็มที่กับมันแล้ว
พี่แอนน์ : ที่น้องโบว์เรียนสายวิทย์ฯ นี้ทางบ้านบังคับให้เรียนหรือเปล่า น้องโบว์ : ไม่ค่ะ ตอนแรกที่จะขึ้น ม.4 หนูยังไม่ได้ปรึกษาใคร แต่หนูตั้งใจเรียนสายนี้อยู่แล้ว พอดีทางบ้านก็อยากให้เรียนด้วยเพราะมันเป็นพื้นฐานทุกอย่าง ถ้าเข้ามหาวิทยาลัยก็ต้องเรียนวิชาพวกนี้เป็นพื้นฐานด้วย และหนูก็อยากเรียนสายวิทย์ฯ อยู่แล้วด้วยค่ะ
พี่แอนน์ : น้องโบว์เลือกคณะอะไรบ้างคะ น้องโบว์ : เลือกทันตแพทย์ 3 อันดับแรกค่ะ
พี่แอนน์ : เลือกทันตะฯ อะไรอันดับหนึ่งคะ น้องโบว์ : ทันตะฯ มหิดล ซึ่งจริงๆ คะแนนหนูไม่ถึงแต่เลือกเผื่อไว้ แล้วก็เชียงใหม่กับ ม. นเรศวร อันดับสุดท้ายเลือกบัญชีธรรมศาสตร์ค่ะ
พี่แอนน์ : ทำไมถึงเลือกเรียนทันตะฯ น้องโบว์ : หนูอยากเป็นหมอ อยากเป็นมากๆ แต่คะแนนหมอหนูห่างเยอะมันไม่ติด และในแอดกลางหมอมีที่เดียวคือขอนแก่นคะแนนหนูก็ไม่ถึง ก็เลยต้องไปเลือกหมอฟันแทนนะค่ะ
พี่แอนน์ : น้องโบว์ได้ไปสอบตรงของแพทย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ไหมคะ น้องโบว์ : ได้ค่ะ ได้ไปสอบที่ ม.ขอนแก่นคณะแพทย์ศาสตร์ แต่ไม่ติด
พี่แอนน์ : ไปสอบที่เดียวหรือคะ น้องโบว์ : ค่ะไปสอบที่เดียว
พี่แอนน์ : แล้วไม่ได้ไปสอบที่อื่นบ้างหรือ น้องโบว์ : ที่อื่นเปิดรับทุกที่นะคะ แต่ว่าขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยไหนเค้ารับประเภทไหน เพราะว่าส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยเค้าจะไม่เปิดให้เด็กกรุงเทพฯหรือปริมณฑลสอบ ส่วนใหญ่เข้ากำหนดจังหวัดเพื่อที่ไปทำโครงการแพทย์ชนบท เมื่อจบออกไปแล้วก็กลับไปทำงานให้กับบ้านเกิดตัวเอง และอีกประเภทนึงก็พวกความสามารถพิเศษ พวกโอลิมปิก หรือนักกีฬาระดับชาติถึงจะไปสมัครได้
พี่แอนน์ : อย่างนี้น้องโบว์มองยังไงมันเป็นการปิดกั้นโอกาสเด็กกรุงเทพฯ หรือเปล่า น้องโบว์ : มันก็เหมือนนะคะ แต่จริงๆ เค้าก็คิดว่าตอนสอบของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) เด็กจะได้แข่งขันกันเต็มที่ เค้าอยากให้เด็กแข่งขันกันตรงนี้มากกว่ามั้งคะพวกเด็กกรุงเทพฯ ส่วนพวกสอบตรงเค้าอาจต้องการเด็กต่างจังหวัดก่อนเพราะอาจสู้เด็กกรุงเทพฯ ไม่ได้ ซึงตรงนี้หนูก็ไม่ค่อยทราบเหมือนกันค่ะ
พี่แอนน์ : น้องโบว์ทราบใช่ไหมคะว่าเป็นหมอนั้นเรียนหนักมาก น้องโบว์ : ทราบค่ะ
พี่แอนน์ : แต่เราก็อยากเรียนเพราะเป็นความใฝ่ฝันของเรา น้องโบว์ : ใช่ค่ะ หนูอยากเป็นหมอ
พี่แอนน์ : แล้วมีเลือกเภสัชหรือเทคนิคการแพทย์ไหม น้องโบว์ : อย่างเภสัชหนูไม่ชอบ มันจะเรียนคล้ายๆ เรียนหมอก็จริงแต่จะเน้นดีเทลยา พอจบออกมาก็ไม่ได้รักษาคนไข้ มันรักษาคนไข้จริงๆ ไม่ได้ มันเป็นการช่วยเหลือคนไข้แต่ไม่ได้รักษา
พี่แอนน์ : คือน้องโบว์อยากรักษาคนไข้โดยตรงเลย น้องโบว์ : ใช่ค่ะ คือได้คุยกับคนไข้โดยตรงเลย
พี่แอนน์ : มันจะมีอีกอย่างนะที่คล้ายๆ หมอนะอย่างนักจิตวิทยาได้เลือกไหมหรือว่าไม่ชอบ น้องโบว์ : ไม่ได้เลือกค่ะ เพราะหนูค่อนข้างคิดมากเหมือนกัน และที่บ้านก็บอกว่าถ้าหนูไปเป็นนักจิตวิทยาแทนที่จะให้คำปรึกษาคนอื่น เค้าจะมาเครียดกับเรา หนูเป็นคนที่คิดมากด้วยค่ะ (หัวเราะ)
พี่แอนน์ : น้องโบว์เป็นคนคิดมากหรือคะ น้องโบว์ : ใช่ค่ะ เวลามีเรื่องนิดนึงหนูก็คิดมากแล้ว ถ้าเรียนจิตวิทยาต้องให้คำปรึกษาคนอื่น เราอาจให้คำปรึกษาไม่ดีพอ ก็เลยไม่เรียนค่ะ
พี่แอนน์ : น้องโบว์มีคติอะไรเกี่ยวกับการเรียนไหม น้องโบว์ : คติของหนูก็คือพยายามนะค่ะ ถ้าเราไม่เก่งวิชาไหนเราก็ต้องพยายามให้เต็มที่ทุ่มกับวิชานั้น ไม่ใช่คิดว่าเราไม่เก่งแล้วปล่อยวิชานั้นมันก็คงไม่ได้อะไร ต้องพยายามค่ะ อย่างเพื่อนในห้องเค้าก็พยายามจนประสบความสำเร็จจริงๆ แต่กับคนที่เวลาเรียนไม่ค่อยตั้งใจก็จะได้คะแนนน้อยลงมาตามลำดับ มันขึ้นอยู่กับความพยายามของเราด้วย แต่มันก็มีอีกอย่างหนึ่งด้วยคือสมอง บางคนหัวดีเก่งอ่านนิดเดียวเค้าก็จำได้ ถ้าเราหัวไม่ค่อยดีเราก็ต้องอ่านมากกว่าหรือหลายเท่ากว่าคนที่เก่งและหัวดี เราก็จะนำเค้าได้
พี่แอนน์ : สวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรีมีสีประจำโรงเรียนและคติอะไร น้องโบว์ : เหมือนสวนกุหลาบใหญ่คือชมพู-ฟ้า ส่วนคติพจน์คือ สุวิชาโน ภวํ โหติ แปลว่า ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญค่ะ ก็เหมือนกับว่าให้เราใฝ่รู้ใฝ่เรียนให้รู้ทุกด้าน ทั้งความรู้รอบตัว ความรู้ในตำราและรู้เกี่ยวกับคุณธรรมต่างๆ ก็ทำให้เราเจริญรุ่งเรืองประสบความสำเร็จในอนาคตนะค่ะ
พี่แอนน์ : แล้วจุดมุ่งหมายในชีวิตของน้องโบว์ละคะ น้องโบว์ : จริงๆ หนูตั้งใจอยากเป็นหมอเกี่ยวกับกระดูกแต่ไม่ได้ ก็เบนไปเป็นหมอฟัน แต่มันก็ต้องดูอีกทีว่าจะเรียนต่ออีกหรือเปล่า เพราะมันต้องเรียนต่อเฉพาะด้านอีกใช่มั๊ยคะ อาจจะเรียนนะคะถ้าหนูเรียนไหว
พี่แอนน์ : น้องโบว์ใฝ่ฝันไว้เลยใช่ไหมค่ะว่าเราจะได้เป็นหมอ น้องโบว์ : ใช่ค่ะ อยากเป็นมันใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็กแล้วนะคะ
พี่แอนน์ : แล้วสมมติว่าาความฝันที่เราตั้งไว้มันไม่สามารถเป็นจริงได้ น้องโบว์จะทำยังไง น้องโบว์ : หนูก็ยังไม่ได้คิดค่ะ เพราะหนูชอบแต่ทางวิทย์ฯและทางสายวิทย์ก็ไม่มีอะไรอื่นมาก อย่างวิศวะหนูก็ไม่ได้สอบความถนัดไว้ก็เข้าไม่ได้อยู่แล้ว แต่ก็เลือกบัญชีไว้ ไม่ว่าเรียนคณะอะไรก็ต้องตั้งใจเรียนให้ดีที่สุดนะคะ
พี่แอนน์ : ถ้าปีนี้ติดบัญชีแล้วปีหน้าจะสอบใหม่ไหม น้องโบว์ : คิดว่าจะสอบดูคะก็จะพยายามตั้งใจ แต่ไม่ติดก็ไม่เป็นไรไม่ค่อยซีเรียสแล้วค่ะ
พี่แอนน์ : คือปีหน้าซิ้วจะลองอีกทีหนึง น้องโบว์ : ใช่ค่ะ ขอลองอีกทีหนึ่ง
พี่แอนน์ : คะแนนไทย A-net น้องโบว์ได้เท่าไหร่ น้องโบว์ : A-net ได้ 76 ค่ะ ยังไม่ได้เท่าไหร่
พี่แอนน์ : สังคมทั้ง O- net และ A-net ได้เท่าไหร่ น้องโบว์ : O- net 68.75 คะแนน A-net 55 คะแนน ถึงคะแนนจะดูไม่ดี แต่อาจารย์ก็ช่วยหนูได้เยอะนะคะ หนูทำได้ไม่ดีรู้ ตอนอ่านโจทย์รู้นะคะว่ามันอยู่ในหนังสือตรงไหน แต่หนูจำคำตอบไม่ได้เพราะคำตอบมันจะใกล้เคียงกันจนเราคิดไม่ถูกว่ามันจะหลอกเรา นึกออกค่ะว่าอาจารย์สอนเราไปหมดแล้ว
พี่แอนน์ : น้องโบว์ว่าข้อสอบปีนี้ยากไหม น้องโบว์ : สังคมหนูไม่ค่อยรู้นะคะ แต่ภาษาไทยหนูว่าธรรมดา ถ้าวิชายากๆ น่าจะเป็นสายวิทย์ฯ อย่างคณิตศาสตร์ปีนี้หนูว่ายากขึ้นค่ะ หนูลองทำข้อสอบเก่าๆ ดูหนูว่าง่ายกว่าของปีนี้นะคะ แต่ว่าบางทีอาจเป็นเพราะว่าเราไปอยู่ในห้องสอบเองเราอาจประมาทและตื่นเต้นด้วย มันอาจวัดกันไม่ค่อยได้เพราะเวลาทำข้อสอบเราทำอยู่ที่บ้านไม่มีอะไรมากดดันเรา แต่ยังไงหนูก็ว่าเลขยากขึ้น ส่วนวิทยาศาสตร์ยากเป็นบางส่วนพอคะแนนรวมทั้งประเทศออกมาคะแนนกลับเพิ่มขึ้น แต่มันอาจขึ้นอยู่กับตัวเราเองด้วยมั้งคะ
พี่แอนน์ : ทุกอย่างนี่ขึ้นอยู่กับตัวของเราเองหมดเลย น้องโบว์ : ใช่ค่ะ บางทีก็โทษข้อสอบไม่ได้ว่ายากหรือง่าย เพราะว่าบางทีเราวัดก็ยังวัดกันไม่ได้มันขึ้นอยู่ที่ความถนัดของแต่ละคนด้วย เราต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุดในทุกๆ ส่วน เราต้องตั้งใจเองมากกว่าจะไปโทษข้อสอบอย่างเดียวก็ไม่ได้ ถึงข้อสอบมายังไงถ้าเรามีความรู้ในด้านนี้เราก็ต้องคิดได้ถึงจะทำไม่ได้ทุกข้อ
พี่แอนน์ : น้องโบว์เจอข้อสอบหลอกบ้างไหม น้องโบว์ : มีนะคะ โจทย์มันหลอกล่อเรานิดเดียวทำให้เราตอบผิดได้ แต่หนูจำไม่ค่อยได้
พี่แอนน์ : คือเราต้องตั้งใจอ่านโจทย์ให้ดีๆ ใช่ไหมคะ น้องโบว์ : ใช่ค่ะ บางทีคำตอบมันใกล้เคียงกัน การเล่นคำมันก็มีส่วนต้องอ่านคำตอบให้ดีๆ บางคนมันจะรนใช่มั๊ยคะเวลาทำข้อสอบกลัวไม่ทันเวลา
พี่แอนน์ : เวลาในการทำข้อสอบเยอะไหม น้องโบว์ : หนูว่าไม่เยอะนะคะ มันน้อยสำหรับวิชาที่มีคำนวณ ยิ่งเป็นเคมีจะทำไม่ทันเลย เคมี 40 ข้อกับเวลาหนึ่งชั่วโมงที่เป็นคำนวณทั้งนั้น ส่วนใหญ่ทำไม่ทันกันค่ะ
พี่แอนน์ : คิดว่าวิชาเลข เคมี ควรจะเพิ่มเวลาใช่ไหม น้องโบว์ : ใช่ค่ะ หนูคิดว่าควรเพิ่มเวลา เพราะว่าถ้าให้ลดจำนวนข้อลงทางผู้ใหญ่จะคิดว่ามันวัดเด็กไม่ครอบคลุมในทุกเนื้อหา เลยต้องให้จำนวนข้อเยอะเด็กจะได้แข่งขันกันได้ แต่พอจำนวนข้อเยอะเวลาน้อยก็ทำไม่ทัน แต่ก็อีกนะคะถ้าให้เวลามากเด็กทุกคนคิดได้มันจะวัดอะไรได้ หนูก็ไม่ทราบว่าผู้ใหญ่เค้าคิดในแง่ไหน
พี่แอนน์ : อยากให้น้องโบว์พูดถึงสิ่งสำคัญในการเตรียมตัวสอบ น้องโบว์ : ใจต้องสู้ค่ะอย่าท้อ ถึงแม้ว่าเราจะทำไม่ได้ก็อย่าท้อ เพราะหนูเห็นหลายคนเลยในห้องสอบพอเริ่มทำไปได้ 10 นาทีเค้าก็ฟุ๊บกันแล้ว มันน่าจะใช้เวลาที่มีให้คุ้มเราอาจได้คะแนนเพิ่มขึ้นก็ได้ ให้ตั้งใจทำให้ถึงที่สุดจนกว่าเวลาจะหมด อย่าท้อค่ะต้องใจสู้
พี่แอนน์ : มีอะไรฝากถึงน้องที่ต้องสอบปีหน้าไหม น้องโบว์ : ให้เตรียมตัวอ่านหนังสือแต่เนินๆ เลยค่ะ เพราะถ้าอ่านใกล้ๆ จะเอนทรานซ์เราจะอ่านไม่ทันเลย ทุกวิชาเนื้อหาจะเยอะมาก ก็ขอให้น้องๆ ทยอยอ่านเพื่อเก็บรายละเอียดไปก่อน พอใกล้เอนฯ ก็อ่านเน้นเนื้อหาอีกครั้งและช่วงสุดท้ายให้ทำโจทย์ยิ่งเลขทำโจทย์จะช่วยได้มากเลยค่ะ เพราะถ้าเราอ่านแต่เนื้อหาแต่ไม่เคยทำโจทย์เลยเวลาเจอโจทย์เราจะไม่ทราบเลยว่าจะแก้ยังไง เราจะแก้ไม่ได้นะคะ
พี่แอนน์ : เริ่มเรียนดาว้องก์ตั้งแต่เมื่อไหร่และสาขาไหนคะ น้องโบว์ : สาขางามวงศ์วานค่ะ มาเรียนตอน ม.6 เทอมหนึ่ง คอร์ส Intensive ค่ะ
พี่แอนน์ : คอร์ส Turbo ไม่ได้เรียน น้องโบว์ : ไม่ได้เรียนค่ะ เพราะไม่มีเวลาเทอมสองกิจกรรมเยอะมาก หนูต้องทำกิจกรรม พอกลับบ้านก็ต้องอ่านหนังสือ
พี่แอนน์ : เรียนดาว้องก์เป็นอย่างไรบ้าง น้องโบว์ : มันช่วยได้มากค่ะสำหรับหนู โดยเฉพาะวิชาสังคมหนูเรียนที่โรงเรียนไม่ค่อยได้จำอะไรเท่าไหร่ มันจำไม่ค่อยได้ อาจารย์เค้าจะสอนไปเรื่อยๆ แล้วหนูไม่เก่งสังคม วิชาสังคมเนื้อหามันเยอะมันกว้าง แต่อาจารย์ปิงจะระบุขอบเขตไว้เป็นเรื่องๆ ทำให้เราจำได้มากขึ้น เป็นระบบมากขึ้นว่าเรื่องไหนอยู่หมวดไหนค่ะ
พี่แอนน์ : ได้อะไรจากดาว้องก์บ้างคะ น้องโบว์ : ก็ได้หลายอย่างนะคะ อย่างได้ความรู้เกี่ยวกับที่เรียนสามารถนำไปใช้ในการสอบได้จริง ทำให้เราได้คะแนนดีขึ้น ช่วยในการจำบางเรื่อง เพราะว่าอาจารย์ปิงมีเทคนิคให้นักเรียนจำซึ่งเราไม่รู้ว่าควรจำยังไง และมีบางส่วนที่วิเคราะห์ด้วยก็ทำให้เราสามารถวิเคราะห์เองได้ อย่างเศรษฐศาสตร์ต้องใช้การวิเคราะห์ด้วย เวลาอ่านเราต้องวิเคราะห์เองบ้างซึ่งเราก็ไม่รู้จะวิเคราะห์ยังไง
พี่แอนน์ : อยากฝากอะไรถึงอาจารย์ไหมคะ น้องโบว์ : ก็ขอขอบคุณอาจารย์นะคะ อาจารย์ช่วยจริงๆ เพราะว่าถ้าหนูไม่ได้มาเรียนกับอาจารย์คะแนนไทย-สังคมของหนูแย่ ยิ่งสังคมหนูไม่ได้อ่านอะไรเลยนอกจากที่ไปเรียนกับอาจารย์ปิงเท่านั้นก็ช่วยหนูได้มากค่ะ
พี่แอนน์ : ขอให้น้องโบว์สมหวังในคณะที่อยากเรียนนะคะและขอบคุณน้องโบว์ด้วยค่ะ น้องโบว์ : ขอบคุณค่ะ
***ความพยายามนะค่ะ ถ้าเราไม่เก่งวิชาไหนเราก็ต้องพยายามให้เต็มที่ทุ่มกับวิชานั้น ไม่ใช่คิดว่าเราไม่เก่งแล้วปล่อยวิชานั้นมันก็คงไม่ได้อะไร ต้องพยายามค่ะ***
ความประทับใจดาว้องก์
ประทับใจทุกอย่างนะคะ เพราะว่าเวลาเรียนพี่ๆ เค้าจะเอาใจใส่ด้วยว่า ให้เราเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้คุยหรือเล่นในห้องเรียน ก็ดีค่ะเป็นการสร้างระเบียบวินัยในการเรียน ถ้าเรามีวินัยในการเรียนเราสามารถจดความรู้ได้ครบถ้วนค่ะ |