น้องกก : ปวัตน์ พื้นแสน (ที่ 1 ประเทศ o-net รวม 8 วิชา)
|
การเรียนในระดับม.ปลาย ไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียดมากนัก ถ้าเรารู้จักแบ่งเวลาในการเรียนการอ่านหนังสือ เราก็สามารถประสบความสำเร็จได้ อย่างน้องกกที่ได้คะแนนรวมทุกวิชาของโอเน็ตแล้วเป็นที่หนึ่งของประเทศ ก็ไม่ได้เรียนหนักมาก ยังมีเวลาว่างที่สามารถทำอย่างอื่นได้อีก ก็มาดูว่าเด็กเก่งๆเค้ามีเคล็ดสับในการเรียนอย่างไร

พี่แอนน์ : แนะนำตัวเองเลยค่ะ น้องกก : ชื่อปวัตน์ พื้นแสนครับ ชื่อเล่น กก จบจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สายวิทยาศาสตร์ประยุกต์
พี่แอนน์ : เป็นยังไงคะวิทย์ฯ ประยุกต์ น้องกก : เป็นวิทย์ฯ-คณิตสายหนึ่งที่แยกย่อยลงไปอีก
พี่แอนน์ : แล้วการเรียนเหมือนวิทย์ฯ-คณิตไหม น้องกก : สายวิทยฯ- คณิตทุกสายเรียนพื้นฐานเหมือนกันหมด แต่มีต่างกัน 2 คาบ
พี่แอนน์ : เรียนอะไรต่างจากวิทย์ฯ-คณิตฯ หรือ น้องกก : มีเรียนกราฟฟิคแคล เรียนวัสดุศาสตร์ และเรียนวิชาโรบอทเกี่ยวกับการต่อหุ่นยนต์
พี่แอนน์ : แสดงว่าวิทย์ฯ-คณิตทั่วไปไม่มีเรียน 3 วิชาเรียนนี้ น้องกก : อย่างวิทย์ฯ-คณิตฯ คอมฯ ก็เรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เพิ่มเติ่ม วิทยฯ-คณิตฯ เยอรมันก็เรียนภาษาเยอรมันเพิ่ม
พี่แอนน์ : เยอรมันไม่ใช่สายศิลป์หรือ น้องกก : สายศิลป์ก็มี แต่สายวิทย์ฯ เรียนเบากว่า สายศิลป์จะเน้นเยอรมันหนักๆ เลย ส่วนสายวิทย์ฯ จะเรียนเป็นวิชาเสริม
พี่แอนน์ : น้องกกได้คะแนนรวมสูงสุดของโอเน็ต 8 วิชา น้องกก : ใช่ครับ
พี่แอนน์ : น้องกกได้คะแนนแต่ละวิชาเท่าไหร่บ้าง น้องกก : ไทย 95 สังคม 82 .5 วิทย์ฯ 95 เลข 100 อังกฤษ 89 ครับ
พี่แอนน์ : เลขได้เต็มเก่งมากนะ น้องกก : ขอบคุณครับ
พี่แอนน์ : เรียนพิเศษวิชาอะไรบ้าง น้องกก : ก็เรียน 5 วิชาหลักครับ
พี่แอนน์ : น้องกกเรียนพิเศษตั้งแต่เมื่อไหร่ ม.4 เลยหรือเปล่า น้องกก : ม.4 ไม่ได้เรียนครับ เริ่มเรียนตอน ม.5
พี่แอนน์ : เริ่มเก็บมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ ม.5 น้องกก : ครับ แต่ก็แล้วแต่วิชาอย่างเลขกับวิทย์ฯ เรียนมาตลอด เพราะขึ้น ม.5 วิชาเริ่มยากขึ้น
พี่แอนน์ : น้องกกเรียนหนักไหม น้องกก : ก็หนักครับ แต่ก็มีเวลาเล่นเหมือนเด็กคนอื่นๆ ทั่วไป
พี่แอนน์ : ดูแล้วไม่น่ามีเวลาว่างเท่าไหร่นะ ทั้งเรียนในโรงเรียนและเรียนพิเศษในตอนเย็นอีก น้องกก : ก็ต้องมีการจัดแบ่งเวลาให้ดีครับ ฟิสิกส์-เคมี-เลข ผมเรียนตอนปิดเทอมเดือนมีนาก่อนขึ้น ม.6 ส่วนสังคม-ไทย ผมก็เรียนตอน ม.6 เทอม 1 เรายังมีเวลาว่างอยู่บ้าง ก็เรียนเท่าที่จำเป็นนะครับ ไม่ได้ลงเยอะมากมาย
พี่แอนน์ : ช่วงก่อนสอบดูหนังสือหนักไหม น้องกก : หนักครับ แต่ต้องแบ่งเวลาบ้าง ถ้าเราอ่านหนักเกินไปมันก็ฝืนหัวเราก็รับไม่ไหว เราต้องมีการแบ่งเวลาพักผ่อนบ้าง
พี่แอนน์ : อ่านหนังสือทุกวันไหม น้องกก : ทุกวันครับ อย่างน้อยก็วันละนิดละหน่อยให้มันได้อ่านนะครับ
พี่แอนน์ : น้องกกอ่านหนังสือช่วงไหนเช้าหรือกลางคืน น้องกก : ผมชอบอ่านตอนกลางคืนมากกว่าครับ มันมีสมาธิและเข้าหัวมากกว่า
พี่แอนน์ : เรียนเยอะๆ อย่างนี้มีการทำกิจกรรมบ้างไหม น้องกก : มีครับ อย่างกีฬาสี และร่วมกิจกรรมอย่างอื่นๆ ด้วย ก็ทุกกิจกรรมครับ
พี่แอนน์ : เก่งนะคะทั้งเรียนที่โรงเรียน เรียนพิเศษและยังร่วมกิจกรรมอีกมากมาย น้องกก : เรื่องกิจกรรมผมอยากให้ทำนะครับ เพราะมันเป็นปีสุดท้ายที่เราได้อยู่ในโรงเรียน ก็อยากให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่เราได้อยู่กับเพื่อนได้ร่วมกิจกรรมกับเพื่อนให้มากที่สุด
พี่แอนน์ : คือมันเป็นปีสุดท้ายที่เราได้ทำอะไรร่วมกับเพื่อนๆ น้องกก : ใช่ครับ เพราะเราจะไม่มีโอกาสกลับมาทำอีกแล้ว
พี่แอนน์ : น้องกกรู้ได้ยังไงว่าเราได้คะแนนรวมที่หนึ่ง น้องกก : เพื่อนโทรมาบอก ตอนแรกก็ไม่เชื่อ ผมไปเช็คดู แต่มั่นใจว่าคณิตได้ 100 เต็มต้องเป็นที่หนึ่งอยู่แล้ว ผมเข้าใจว่าวิชาเลขวิชาเดียว แต่ไม่เชื่อว่าวิชาอื่นรวมของผมจะได้ที่หนึ่งด้วย
พี่แอนน์ : คุณพ่อ-แม่ให้รางวัลอะไร น้องกก : ไม่มีอะไรครับ คือมันเพื่อตัวเราเอง
พี่แอนน์ : น้องกกได้ขอรางวัลหรือเปล่า น้องกก : ไม่ได้ขอครับ คือมันก็เพื่อตัวเราเองไม่ได้หวังรางวัล เพราะมันเป็นอนาคตของเราที่เราต้องทำ ไม่ใช่ทำเพื่อให้ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ มันไม่ใช่ครับ
พี่แอนน์ : มีท้อบ้างไหมที่ต้องเรียนหนักๆ อย่างนี้ น้องกก : ก็มีครับ เพราะบางวิชาอ่านแล้วอ่านอีกก็อ่านไม่รู้เรื่องสักที
พี่แอนน์ : เวลาท้อน้องกกมีอะไรเป็นแรงกระตุ้นให้เราสู้ต่อไป น้องกก : ผมชอบอยู่กับเพื่อน นั่งคุยกับเพื่อน ช่วยกันดูและผลัดกันถาม-ตอบ คิดว่ามันช่วยได้มาก ทำให้เราผ่อนคลายลงได้ด้วยครับ
พี่แอนน์ : ดีกว่าเราอ่านคนเดียวใช่ไหม น้องกก : ครับ มันช่วยทบทวนตัวเองไปในตัว เพราะว่าคำถามบางคำถามที่เราไม่รู้หรือเพื่อนไม่รู้ก็เป็นการช่วยกันไปในตัว
พี่แอนน์ : สิ่งนี้ถือเป็นเคล็ดลับของน้องกกหรือเปล่า น้องกก : จะว่าอย่างนั้นก็ได้ครับ
พี่แอนน์ : แนะนำน้องๆ ในการอ่านหนังสือและการทำข้อสอบหน่อย น้องกก : อย่ารนครับ อย่ารนเด็ดขาด อย่างเลข วิทย์ฯ ถ้ารนแล้วเละ ต้องมีสติ ฝึกหัดจับเวลาทำ ทำตามเวลาที่กำหนดให้ทัน เตรียมตัวดีๆ จัดอุปกรณ์ทุกอย่างให้พร้อม เช็คห้องสอบ แล้วทำความดีไว้เยอะๆ ให้เราสบายใจ มีจิตใจที่ปลอดโปร่งดีที่สุด
พี่แอนน์ : ข้อสอบปีนี้ยากไหมในแต่ละวิชา น้องกก : ภาษาไทยง่ายลง แต่วิชาอื่นยากขึ้น
พี่แอนน์ : อย่างวิทย์ฯ เลข ให้เวลาเท่าไหร่แล้วน้องกกทำข้อสอบทันไหม น้องกก : ไม่ทันครับ อย่างเลขให้เวลา 2 ชั่วโมง รู้สึกว่าช้อยส์ 25 ข้อ อัตนัยอีก 10 ข้อ ก็ทำไม่ทันหรอกครับ
พี่แอนน์ : ทุกข้อต้องคำนวณหมดเลยหรือ น้องกก : ต้องคิดทุกข้อ ต้องเร็วมากแต่ก็ทำไม่ทัน เหลือเยอะเหมือนกันครับ
พี่แอนน์ : ทำไม่ทันยังได้เต็ม 100 เลย น้องกก : ผมหมายถึงว่าโอเน็ต ผมทำทัน แต่เอเน็ตมันยาก ผมคิดว่าโอเน็ตสำหรับสายวิทย์ฯ คงไม่มีปัญหา แต่สำหรับสายศิลป์ยากมากๆ สายวิทย์ฯ ออกมาลุ้นกันว่าจะได้เต็มไหม ส่วนสายศิลป์เพื่อนยังมาบ่นเลยว่ายากมากๆ
พี่แอนน์ : ในความเห็นของน้องกก คิดว่าควรมีการแยกข้อสอบวิทย์ฯ สำหรับเด็กสายวิทย์ฯ กับสายศิลป์ไหม น้องกก : เอเน็ต มันชัดเจนอยู่แล้วว่าสำหรับเด็กสายวิทย์โดยเฉพาะ โอเน็ตก็เข้าใจเจตนาว่าเพื่อเด็กทุกคน แต่ปีนี้มันยากเกินไป ยากกว่าปีที่ผ่านมาครับ
พี่แอนน์ : ถ้าอย่างนั้นน้องๆ ที่จะสอบปีหน้าต้องเตรียมตัวดูหนังสือแต่เนิ่นๆ ใช่ไหม น้องกก : แต่คิดว่าน่าจะปรับข้อสอบให้ง่ายลงหน่อย เพราะปีนี้ผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ก็เห็นชัดว่าเด็กไม่ไหว เอเน็ตยาก
พี่แอนน์ : คิดว่าทาง สกอ. เค้าต้องการวัดความรู้ของเด็กหรือเปล่า น้องกก : วัดมันก็ใช่นะ แต่เมื่อเรามีเอเน็ตอยู่แล้วสำหรับเด็กสายวิทย์ฯ ที่เชี่ยวชาญที่เรียนคณิตศาสตร์มาเฉพาะ มันควรทำให้ง่ายกว่านี้สำหรับเด็กสายศิลป์สอบไปเค้าก็ไม่ได้เอาไปทำอะไร อย่างเลขเอาไปใช้เข้านิติศาสตร์หรือนิเทศศาสตร์มันก็ไม่ได้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์
พี่แอนน์ : อยากให้เอาวิชาที่จะต้องใช้มาสอบ น้องกก : ใช่ครับ คือเอาวิชาที่ตรงที่ต้องใช้ ผมว่าน่าจะสอบแค่ประเมินว่าผ่านหรือไม่ผ่าน แต่ไม่จำเป็นว่าต้องยากเกินไป
พี่แอนน์ : น้องกกมีความคิดอย่างไร บ้างถ้าจะให้คณะอื่นๆ มีการสอบตรงอย่างคณะแพทย์ น้องกก : ถ้าการยื่นแอดมิชชั่นยังบังคับการใช้เกรด คิดว่าสอบตรงเด็กน่าจะมีคุณภาพมากกว่า
พี่แอนน์ : น้องกกยื่นคะแนนเลือกคณะอะไรบ้าง น้องกก : ผมยังไม่ได้ยื่นแอดมิชชั่น เพราะว่าผมได้หมอที่จุฬาฯ แล้วครับ ตอนนี้เรียบร้อยทุกอย่างแล้วรอรับน้องอย่างเดียว
พี่แอนน์ : ข้อสอบ สอบตรงยากไหม น้องกก : คือหมอก็ใช้วิชาเฉพาะของหมอ 30% อีก 70% ใช้ข้อสอบเอเน็ตวิชาต่างๆ มาคิดคะแนน ข้อสอบเฉพาะของหมอก็ยาก
พี่แอนน์ : แล้วที่เราเลือกหมอ เพราะว่าเป็นความใฝ่ฝันของเราหรือเปล่า น้องกก : ก็ไม่เชิงว่าใฝ่ฝันต้องเป็นหมอให้ได้ การเรียนม.ปลายกับการดูคณะต่างๆ ที่คิดว่าเราชอบที่สุดแล้ว ตรงใจเราทีสุด
พี่แอนน์ : ประเภทว่าจบออกมาไม่ตกงานหรือเปล่า น้องกก : (หัวเราะ) มันก็ต้องมีส่วนนะครับ เรื่องความมั่นคงด้านอาชีพในอนาคต
พี่แอนน์ : ตอนนี้ข่าวหมอมีการฟ้องร้องมากที่สุด น้องกกมีความคิดเห็นอย่างไร น้องกก : คิดว่ามันเป็นเคสๆ ไป ถ้าเราทำพลาดจริง เราผิดพลาดโดยไม่ใช่ประมาท มันก็ควรจะรับผิดชอบให้เค้า แต่มันต้องดูเป็นกรณีไป แต่ก็อยากให้สังคมทั่วไปเข้าใจด้วยว่าโอกาสพลาดมันก็มี ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ประมาท ไม่ได้ตั้งใจ แต่ละโรคแต่ละอาการมันก็มีวิธีการรักษาได้หลายแบบ บางครั้งมันอาจต้องเสี่ยงเพื่อให้รอด แต่บางครั้งการเสี่ยงก็อาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ ก็ต้องเข้าใจตรงนี้ด้วยครับ
พี่แอนน์ : คงไม่มีหมอคนไหนอยากให้คนไข้เสียชีวิต น้องกก : ใช่ครับ และคิดว่ากระทรวงสาธารณสุขหรือแพทยสภาต้องทำความเข้าใจกับสังคมภายนอกทั่วไปด้วย
พี่แอนน์ : แล้วจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้คนเลือกหมอน้อยลงหรือเปล่า น้องกก : มันคงไม่มีผลเท่าไหร่ครับ เด็กส่วนใหญ่ไม่น่าจะดูตรงนี้เป็นเหตุผล ว่าไม่เลือกเรียนหมอเพราะกลัวจะโดนฟ้อง คนที่ไม่เลือกหมอคงเป็นความต้องการของเค้าว่าต้องการเรียนวิศวะฯ หรือเรียนอะไรที่เค้าชอบมากกว่าหมอ
พี่แอนน์ : อักษรย่อ/สีและคติพจน์ของโรงเรียนคืออะไร น้องกก : อักษรย่อก็ ต.อ. สีประจำโรงเรียนก็สีชมพู
พี่แอนน์ : แล้วคติพจน์ของโรงเรียนละ อย่าบอกนะว่าจำไม่ได้ น้องกก : (หัวเราะ) ครับ ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี เป็นการสื่อความหมายที่ชัดเจนและตรงตัวดี สักวันหนึ่งถ้ามีโอกาสก็ตอบแทนโรงเรียนอยู่แล้ว
พี่แอนน์ : แต่การที่นักเรียนของเตรียมฯ สอบเข้าคณะที่ดังๆ ของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อก็เป็นการสร้างชื่อให้โรงเรียนหรือเป็นการตอบแทนแล้วส่วนหนึ่งใช่ไหม น้องกก : ใช่ครับ
พี่แอนน์ : น้องกกมาเรียนดาว้องก์ตอนไหน น้องกก : คอร์ส Intensive ม.6 เทอม1 แต่คอร์สเทอร์โบไม่ได้เรียน
พี่แอนน์ : การเรียนพิเศษช่วยอะไรน้องกกบ้าง น้องกก : ก็ช่วยได้เยอะพอสมควรครับ คอร์ส Intensive คือการสรุปเนื้อหาแบบย่อๆ ทำให้เราอ่านได้ในเวลารวดเร็ว ถ้าให้อ่านหนังสือสังคมทุกเทอมก็ไม่ไหว เพราะเราต้องแบ่งเวลาให้กับวิชาอื่นอีก มันก็ช่วยได้มาก แต่ไปเรียนก็ต้องตั้งใจเรียนไม่ใช่ไปนั่งคุยนั่งเล่น ถ้าเราฟังอาจารย์บางเรื่องก็จำได้เลยโดยไม่ต้องอ่านทวนด้วยซ้ำ
พี่แอนน์ : น้องกกเรียนสาขาไหน น้องกก : บางกะปิครับ
พี่แอนน์ : ได้อะไรจากดาว้องก์บ้างนอกจากความรู้ที่บอกมา น้องกก : เยอะแยะครับ ความสนุกสนาน แง่คิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ชีวิต
พี่แอนน์ : ยังไงบ้างพอขยายความได้ไหม น้องกก : อย่างการเลือกคณะเราควรเลือกอย่างไร หรือเราควรทำมารยาทอย่างไร การคบเพื่อนการดูคน ตรงนี้อาจารย์สอนและช่วยเราได้มากครับ ไหนยังสอนเรื่องคุณธรรมต่างๆ อีก
พี่แอนน์ : อย่างการใช้ชีวิตละอาจารย์สอนอะไรบ้าง น้องกก : ม.6 มันเป็นปีสุดท้าย ให้ทำกิจกรรมกับเพื่อนให้หาประสบการณ์ให้มากที่สุด ใช้เวลาไปโรงเรียนและอยู่กับเพื่อนให้มาก อย่าทิ้งเพื่อน ให้ได้ทั้งการเรียนและกิจกรรม
พี่แอนน์ : น้องกกเคยร่วมกิจกรรมกับทางดาว้องก์บ้างไหม น้องกก : ไม่เคยครับ
พี่แอนน์ : เคยประกวดหนุ่ม Pop ไหม น้องกก : ไม่ครับ เพราะไม่คิดว่าจะผ่านด้วย (หัวเราะ) แค่ดูอย่างเดียว
พี่แอนน์ : เวลาว่างน้องกกทำอะไรบ้าง น้องกก : เล่นกีฬา เตะฟุตบอล เล่นคอมพิวเตอร์และดูหนังก็เหมือนเด็กทั่วๆ ไป
พี่แอนน์ : น้องกกไม่ได้เรียนหนักมาก น้องกก : ใช่ครับ ยังมีเวลาว่างที่สามารถทำอย่างอื่นได้ อย่างทีวีก็ดูทุกวัน
พี่แอนน์ : ฝากอะไรถึงน้องๆ ดาว้องก์หน่อย ว่าทำอย่างไรถึงจะเก่งอย่างพี่กกบ้าง น้องกก : (หัวเราะ) ค้นหาตัวเองก่อนว่าชอบอะไร หาเป้าหมายตัวเองให้เจอ แล้วเอาสิ่งนั้นเป็นเป้าคอยเตือนตัวเองอยู่เรื่อยๆ และควรเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่เทอม1 ได้แล้ว อย่างปล่อยเวลาให้ผ่านไปแบบยังเหลือเวลาอีกตั้งเทอมหนึ่งเอาไว้ก่อนก็ได้ รอไว้เทอม 2 ค่อยอ่านก็ยังทัน อย่าคิดอย่างนั้น เพราะเวลาจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้น และก็ฝากว่าอย่าทิ้งกิจกรรมที่โรงเรียน ม.6 เป็นปีสุดท้ายของเราที่จะใช้ชีวิตในม.ปลาย ก็ควรใช้เวลาให้เต็มที่กับกิจกรรมในโรงเรียนและกับเพื่อนๆ ครับ
พี่แอนน์ : มีอะไรฝากถึงอาจารย์ปิงไหม น้องกก : ขอบคุณอาจารย์ปิงที่ให้ความรู้ และข้อคิดแง่คิดต่างๆ กับผม ผมมีวันนี้ได้ส่วนหนึ่งได้ก็เพราะอาจารย์ครับ ขอบคุณครับ
พี่แอนน์ : ขอบคุณน้องกกมากค่ะ น้องกก : ครับ ขอบคุณครับ
***ต้องแบ่งเวลาบ้าง ถ้าเราอ่านหนักเกินไปมันก็ฝืนหัวเราก็รับไม่ไหว เราต้องมีการแบ่งเวลาพักผ่อนบ้าง***
ความประทับใจดาว้องก์
ผมประทับใจอาจารย์ปิงที่สุด อาจารย์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมมีวันนี้ได้ ที่ทำให้ผมสอบติด ที่ทำให้ผมมีคะแนนที่ดี อาจารย์ให้หลายๆ อย่างกับผม ที่แน่ๆ คือให้ความรู้ ความสนุกสนานในการเรียนมีเรื่องเล่าต่างๆ ที่ช่วยผ่อนคลายไม่ให้เครียด ไม่ให้เบื่อเวลาเรียน ให้ข้อคิดต่างๆ อย่างการเลือกคณะที่จะเรียนในมหาวิทยาลัย นี่เป็นความประทับใจที่ผมมี ซึ่งบางที่เรียนอย่างเดียว คือเข้าไปเรียนๆ ๆ จบออกมาก็กลับบ้าน ไม่ได้เหมือนอย่างอาจารย์ปิงครับ |