กะทิ : วรรฐ์ตา พวงจันทร์แดง
(คะแนนอันดับ 1 O-NET วิชาภาษาไทย) |
***สิ่งที่เราพูดออกไปโดยไม่ทันคิดอาจไปสร้างความเดือดร้อนหรือความไม่พอใจให้กับคนอื่น***
พี่แอนน์ : รายงานตัวให้รู้จักหน่อยค่ะ
น้องกะทิ: ค่ะ ชื่อกะทิ ชื่อจริง ชื่อวรรฐ์ตา พวงจันทร์แดง จบจากเตรียมอุดมศึกษา สายศิลป์-ภาษาญี่ปุ่นค่ะ
พี่แอนน์ : อยากเข้าเรียนคณะไหน
น้องกะทิ: ตอนนี้สอบตรงได้ที่อักษรศาสตร์ จุฬาค่ะ
พี่แอนน์ : ตอนสอบกะทิอ่านหนังสือแบบทุ่มเทสุดๆ หรือเปล่า
น้องกะทิ: ไม่ค่ะ เพราะวิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่ชอบอยู่แล้ว แต่เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจว่าเราถนัดแล้วละทิ้ง เราอ่านหนังสือด้วยอาจอ่านน้อยกว่าวิชาอื่นนิดหนึ่ง และไม่คิดว่าจะได้ที่ 1 ด้วยค่ะ
พี่แอนน์ : คาดหวังกับผลมากน้องแค่ไหน
น้องกะทิ: ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ที่ 1 ค่ะ แต่หวังว่าเกินครึ่งน่าจะดี และได้ยินมาว่าโอเน็ตยากทุกปีลองทำแบบฝึกหัดดูก็ค่อนข้างยาก ตอนทำในห้องสอบไม่ได้คิดว่าต้องได้คะแนนดีมากๆ นะ คือพยายามทำเท่าที่เรารู้พอทำเสร็จก็บอกตัวเองว่าเราเต็มที่แล้วได้เท่าไหร่ต้องยอมรับผลของมันค่ะ
พี่แอนน์ : ข้อสอบปีนี้เป็นยังไงบ้าง
น้องกะทิ: ไม่ถึงกับยากแต่ก็ไม่ง่าย เน้นวิเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมันดีเพราะที่โรงเรียนฝึกให้วิเคราะห์ถือว่าไม่ยากและไม่ง่ายจนเกินไปค่ะ
พี่แอนน์ : ชอบเรื่องอะไรในวิชาภาษาไทย
น้องกะทิ: โดยส่วนตัวที่ชอบมากที่สุดคือวรรณคดีค่ะ เพราะเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ตั้งแต่เด็กแล้วที่บ้านชอบซื้อหนังสือวรรณคดีฉบับการ์ตูนมาให้อ่านค่ะ หนูสนใจและที่ชอบวรรณคดีทำให้ชอบวิชาภาษาไทยด้วยค่ะ
พี่แอนน์ : วรรณคดีเรื่องแรกที่อ่านแล้วประทับใจคือเรื่องอะไร
น้องกะทิ: เรื่องพระอภัยมณีค่ะ เพราะว่าตอนเด็กๆ ไม่ค่อยได้อ่านวรรณคดีไทยมากค่ะ เรื่องแรกที่อ่านคือเรื่องเงือกน้อยของฝรั่งค่ะ พอมาอ่านพระอภัยมณีของไทยมีนางเงือก พอรู้ว่าของไทยมีนางเงือกด้วยก็ดูว่าเรื่องอื่นมีอะไรที่คล้ายคลึงกับของฝรั่งบ้างไหม และคอยติดตามเรื่องอื่นๆ ด้วยค่ะ
พี่แอนน์ : พระอภัยมณีคือเรื่องที่ชอบที่สุดหรือเปล่า
น้องกะทิ: เรื่องที่ชอบที่สุดคือเรื่องของเจ้าฟ้ากุ้ง คือเพลงยาวเจ้าฟ้ากุ้งค่ะ เป็นบทร้อยกรองที่พูดถึงความรักของเจ้าฟ้ากุ้งที่มีต่อคนรักที่เค้ารักค่ะ
พี่แอนน์ : ภาษาไทยมีเรื่องที่ไม่ชอบไหม
น้องกะทิ: มีค่ะ ไม่ชอบหลักภาษา เพราะค่อนข้างยุ่งยาก มีแยกเป็นคำนาม คำสรรพนาม ลักษณะประโยค ทำให้จำยากค่ะ
พี่แอนน์ : ตรงนี้มีเทคนิคยังไงที่ทำให้จากไม่ชอบมาเป็นชอบค่ะ
น้องกะทิ: พยายามทำใจให้ชอบส่วนหนึ่ง อีกอย่างพยายามเอาแนวแกรมมาภาษาไทยไปเทียบกับภาษาอังกฤษ นอกจากทำให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้น ยังเป็นการฝึกให้เราจำแกรมมาทั้ง 2 ภาษาไปพร้อมๆ กันด้วยค่ะ
พี่แอนน์ : ตอนที่โทรไปคุณแม่บอกไปสวนโมกข์ไปทำอะไรคะ
น้องกะทิ: ไปปฏิบัติธรรมค่ะ
พี่แอนน์ : การไปตรงนั้นมีประโยชน์กับการเรียนของเรายังไง
น้องกะทิ: มีค่ะ การปฏิบัติธรรมมีให้นั่งสมาธิ ฟังธรรม เดินจงกรม และอีกอย่างที่เราไม่คิดว่าจะเจอคือการบำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งการนั่งสมาธิทำให้เรามีสมาธิในการจดจ่อกับสิ่งๆ นั้นได้ดี ในเรื่องของการบำเพ็ญประโยชน์ฝึกให้เราช่วยเหลือตัวเองได้และไปช่วยเหลือสังคมได้ด้วย คือให้พัฒนาทั้งตัวเองและสังคมเป็นการฝึกฝนตัวเองให้ใช้ชีวิตในสังคมได้ค่ะ
พี่แอนน์ : ฝึกมานานหรือยังคะ
น้องกะทิ: ถ้าเป็นการไปปฏิบัติธรรมแบบจริงจังเป็นครั้งที่ 2 ครั้งแรกทำตอนอยู่ประถมที่วัดเวฬุวัน แต่ถ้าเป็นการสวดมนต์หรือนั่งสมาธิทำมาตั้งแต่เด็ก คือคุณพ่อชอบเรื่องแบบนี้ท่านพยายามฝึกให้ทำค่ะ (คือฝึกมาทั้งบ้านเลย) ใช่ค่ะ
พี่แอนน์ : การเลือกเรียนภาษาญี่ปุ่นนี่เพราะอะไรคะ
น้องกะทิ: ชอบฟังเพลง ดูหนัง ที่สำคัญคือชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งเด็กในวัยหนูน่าจะชอบเหมือนกัน เพราะว่าเติบโตมาถ้าไม่อ่านพวกขายหัวเราะ มหาสนุก ต้องอ่านโดเรมอน ซึ่งเด็กทุกคนชอบและจากการที่ชอบโดเรมอนทำให้ไปชอบเรื่องอื่นๆ และพยายามที่อยากอ่านต้นฉบับที่เป็นญี่ปุ่นเราน่าจะเข้าใจได้ลึกซึ้งกว่านี้ จึงมาเรียนตรงนี้ค่ะ
พี่แอนน์ : ความยากง่ายของภาษาละคะ
น้องกะทิ: ยากค่ะ เฉพาะตัวหนังสือมี 2 แบบ มีภาษาจีนเข้ามาด้วย เพราะว่าญี่ปุ่นมีการนำอักษรจีนมาใช้ และตัวอักษร 1 ตัวบางทีก็อ่านได้เสียงเดียว บางตัวอ่านได้ 4-5 แบบ เราต้องจำพยายามอ่านบ่อยๆ เพราะการอ่านบ่อยๆ ทำให้เราจดจำได้ดีขึ้น
พี่แอนน์ : มีเทคนิคการจำยังไง
น้องกะทิ: ถ้าเป็นเรื่องตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นเราสามารถนำไปเขียนเป็นภาพได้ อย่างตัวคะจะเขียน ก.ไก่ สระอาของเรา มันรูปร่างคล้ายตัวนกค่ะ ตอนอาจารย์สอนตัวคะอาจารย์เอารูปเขียนตัวคะแล้วนำไปใส่คำว่ากา คือเอาภาษาญี่ปุ่นมาเขียนเป็นภาษาไทยให้นักเรียนจำได้ง่ายขึ้น ซึ่งตรงนั้นก็ช่วย อีกอย่างคือหนูมีกระดาษเขียนคำศัพท์ที่จำไม่ได้ไปแปะในที่ที่เราเห็นได้ง่าย พอมองเห็นเราพยายามนึกว่าตัวนี่อ่านว่าอะไร ถ้าอ่านไม่ได้จริงๆ ถึงไปดูคำอ่านภาษาไทยที่เราเขียนไว้ ก็ทำให้เราจำได้ค่ะ
พี่แอนน์ : ตัวหนังสือภาษาญี่ปุ่นมีกี่แบบให้ป่าวคะ
น้องกะทิ: ใช่ค่ะ มี 2 แบบ
พี่แอนน์ : ตัวอักษร 2 แบบใช้ต่างกันยังไง
น้องกะทิ: ถ้าฮิรางานะเป็นตัวอักษรของญี่ปุ่นแท้ๆ ซึ่งใช้ทั่วๆ ไป อย่างชื่อคนทั่วๆ ไป แต่คาตากานะใช้เขียนคำที่มาจากภาษาต่างประเทศเป็นคำทับศัพท์ค่ะ
พี่แอนน์ : ชอบภาษาญี่ปุ่นเคยไปญี่ปุ่นบ้างไหมคะ
น้องกะทิ: ไม่เคยค่ะ อยากไปเหมือนกันค่ะ
พี่แอนน์ : ถ้าได้ไปญี่ปุ่นอย่างไปเที่ยวที่ไหนบ้างคะ
น้องกะทิ: อยากไป 2 ที่ค่ะ เมืองนารากับเมืองฮอกไกโด เพราะที่นารามีวัดสวยมีพระพุทธรูป อีกอย่างคือเมืองนารามีกวางเยอะชอบกวางเพราะเป็นสัตว์ที่สวยงาม ส่วนที่ฮอกไกโดมีหิมะตกไม่เคยเล่นหิมะอยากไปเล่นค่ะ
พี่แอนน์ : ไปอยากไปโตเกียวหรือ
น้องกะทิ: อยากค่ะ แต่ไปโตเกียวค่าใช้จ่ายสูงและเป็นเมืองหลวงค่อนข้างวุ่นวาย ซึ่งคนที่ไม่เคยไปแล้วเริ่มไปโตเกียวมันอาจหลงได้ง่ายถ้าไปเองโดยไม่มีไกด์ค่ะ
พี่แอนน์ : กะทิมีนิสัยยังไง
น้องกะทิ: เท่าที่คนอื่นบอกเค้าว่าเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยพูด เพราะเวลาทำอะไรหนูจะคิดก่อนพูด ถ้าเห็นว่าไม่ควรพูดก็ไม่พยายามพูดออกไป เพราะบางทีสิ่งที่เราพูดออกไปโดยไม่ทันคิดอาจไปสร้างความเดือดร้อนหรือความไม่พอใจให้กับคนอื่น เวลาเราทำอะไรควรคิดให้รอบคอบก่อนค่ะ
พี่แอนน์ : เรียนอักษรเลือกเรียนสาขาอะไร
น้องกะทิ: จริงๆ ต้องเลือกเรียนตอนปี 2 ค่ะ แต่เลือกเอกภาษาไทยเพราะว่าชอบอยู่แล้ว แต่ยังไม่แน่อาจไปเรียนเอกประวัติศาสตร์ (เท่ากับฉีกเลยนะ) มันก็ฉีกไปเลย ซึ่งหนูกำลังชั่งใจอยู่เพราะถ้าเรียนภาษาไทยเป็นอะไรที่เราชอบเราน่าจะทำได้ดี ประวัติศาสตร์ก็ชอบเหมือนกัน แต่ต้องไปดูอีกทีว่าประวัติศาสตร์เรียนแบบไหน เรียนประวัติศาสตร์ไทยหรือทั่วไป ถ้าเรียนประวัติศาสตร์ทั่วไปก็น่าเรียนเอกไทยดีกว่าค่ะ
พี่แอนน์ : ชอบประวัติศาสตร์อย่างนี้ต้องชอบวิชาสังคมด้วยซิ
น้องกะทิ: ชอบค่ะ แต่ไม่ได้ชอบทุกแนว มันมี 5 แนว ถ้าเป็นส่วนของกฎหมายหรือหน้าที่พลเมืองไม่ค่อยถนัด ดูเป็นวิทย์ไปหน่อยต้องวิเคราะห์ต้องจำเยอะ แต่ถ้าเป็นเรื่องภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา พอทำได้ค่ะ
พี่แอนน์ : เรียนหนักไหมกับสายนี้
น้องกะทิ: สายศิลป์ไม่หนักเท่าวิทย์ค่ะ ส่วนตัวหนูเรียนสายนี้แบบสบายๆ เพียงแต่ตอนม.4 เราสอบเข้าเตรียมค่อยข้างปรับตัวเยอะ รอบตัวเราแวดล้อมด้วยคนเก่ง ถ้าเราไม่พยายามทำตัวให้ขยันอาจตามเค้าไม่ทัน พอเราถูกทิ้งจากที่ทิ้งน้อยๆ มันค่อยๆ ห่าง เราต้องทำตัวให้ทันเพื่อน อ่านหนังสือมาก ด้วยความที่ตอนม.4 เราตั้งใจมากๆ พอม. 5 ม.6 สบาย เรียนแบบไม่เครียดมากและเพื่อนๆ ช่วยกันด้วยค่ะ เลยไม่หนัก
พี่แอนน์ : ทำกิจกรรมตอนเรียนบ้างไหม
น้องกะทิ: ทำค่ะ หนูอยู่ชมรมภาษาญี่ปุ่นมีงานชมรมนิทรรศหนูอยู่ฝ่ายอาหารทำอาหาร กีฬาสีช่วยทำคัทเอาท์ ทำอุปกรณ์เชียร์ประมาณนี้ค่ะ การเรียนอย่างเดียวอาจดีว่าเรามีวิชาติดตัว แต่เราต้องฝึกการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมต้องทำกิจกรรมในสังคมบ้างค่ะ
พี่แอนน์ : เคยได้ยินบ้างไหมว่าเด็กเตรียมเป็นแบบขั้นเทพ
น้องกะทิ: เคยค่ะ (รู้สึกยังไง) หัวเราะ มีหลายครั้งที่มีไปเข้าค่ายกับเด็กโรงเรียนอื่นที่เชียงใหม่ เค้าให้แนะนำตัว หนูแนะนำตัวว่ามาจากโรงเรียนเตรียมอุดมกรุงเทพวันแรกไม่มีคนพูดกับหนูเลย คือเค้ามีความรู้สึกว่าเด็กเตรียมจะยิ่งแล้วเวลาใครไปพูดด้วยก็ไม่พูดด้วย หนูบอกว่าไม่ใช่หรอก เด็กเตรียมที่เฮฮาก็มีนะ ความเป็นเด็กเตรียมก็ไม่ได้เก่งขั้นเทพทุกคน อย่างหนูก็ไม่ได้เก่งมาก คะแนนโอเน็ตออกมาภาษาไทย-สังคมอาจดี แต่ถ้าไปดูวิทย์ ดูคณิตก็เหมือนเด็กทั่วไปได้คะแนนไม่ดีเท่าไหร่ โรงเรียนเตรียมที่ทุกคนมองดูเป็นเด็กขั้นเทพ อาจเป็นเพราะภาพลักษณ์ของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง เช่น เด็กโอลิมปิกที่สร้างชื่อเสียง คนอื่นจึงมองส่วนรวมไปด้วยว่าเป็นอย่างนั้น แต่จริงๆ โรงเรียนเตรียมอุดมเหมือนทุกๆ โรงเรียนค่ะ มีเด็กอ่อนเด็กเก่งปะปนกันไปค่ะ
พี่แอนน์ : กะทิมีการเตรียมตัวในการสอบหรือมีความพร้อมในเรื่องเรียนยังไงบ้าง
น้องกะทิ: ไม่ใช่เตรียมตัวเฉพาะช่วงสอบเราต้องเตรียมตัวเสมอต้นเสมอปลาย เวลาอยู่ในห้องเรียนต้องตั้งใจเรียน กลับมาบ้านอ่านทบทวนบ้าง เพราะว่าการเรียนทุกอย่างไม่ใช่เรียนตอนเช้ากลับมาไม่ทบทวน เราต้องทบทวนบ้าง 2 หรือ 3 รอบ อย่างตอนเช้านั่งรถเราอาจเอาขึ้นมาอ่านบ้าง นอกจากอ่านเรื่องที่เรียนมาแล้วหรืออ่านล่วงหน้าก็ได้ พออาจารย์สอนเราจะได้เข้าใจมากขึ้น ช่วงสอบก็บอกเพื่อนๆ ให้แต่ละคนอ่านตรงนี้ ตรงนี้มานะแล้วมานั่งคุยกันมันได้ประโยชน์ เพราะหนึ่งคนจำจุดสำคัญไม่เหมือนกัน เมื่อจุดสำคัญหลายๆ จุดมารวมกันทำให้เราแม่นในทุกๆ จุด เวลาไปทำข้อสอบก็จะครอบคุลมและทำได้ค่ะ
พี่แอนน์ : มีไปแข่งขันงานวิชาการบ้างมั๊ย
น้องกะทิ: เคยไปตอบปัญหาของวิชาภาษาไทย การไปตรงนี้ทำให้เราได้รู้จักคนเก่งหรือที่เก่งกว่าเรามันทำให้เรากระตือรือร้นพยายามพัฒนาตัวเองหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่ใช่คิดว่าฉันเก่งแล้วฉันไม่ต้องทำอะไรเพิ่งแล้วไม่ใช่ ไม่มีใครเก่งไปตลอด การเรียนมันเรียนได้ตลอดชีวิตถ้าเราหยุดนิ่งอยู่กับที่จะทำให้เราหยุดพัฒนา แต่ถ้าเราไม่หยุดเราก็จะเป็นคนที่เก่งๆ และเก่งขึ้นไปเรื่อยๆ ค่ะ
พี่แอนน์ : กะทิคิดว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบเหมาะกับเด็กในยุคปัจจุบัน
น้องกะทิ: โดยส่วนตัวหนูชอบระบบที่ปีหนึ่งเอนท์ได้ 2 ครั้ง คือช่วงปลายปีกับต้นปี หนูจำไม่ได้เหมือนกันว่าปีไหน โดยส่วนตัวหนูคิดว่าระบบนี้ดีสุดนะคะ แต่ระบบที่เป็นอยู่นี้คือแกต/แพทก็ดีนะคะฝึกให้เด็กเอาความรู้ไปวิเคราะห์ แต่ที่หนูเห็นไม่เหมาะกับเด็กไทย คือเด็กไทยยังไม่เหมาะกับข้อสอบที่ต้องมีหลายคำตอบ คือเราถูกฝึกมาว่าคำถาม 1 ข้อมีคำตอบได้คำตอบเดียวที่ถูกที่สุด แต่ในความเป็นจริงชีวิตคนเราพอไปเจอปัญหาสักหนึ่งปัญหาคำตอบต้องมีมากกว่าหนึ่งคำตอบ หนูคิดว่าถ้าเอาระบบหนึ่งปีสอบ 2 ครั้งมาใช้ โดยใช้ข้อสอบรูปแบบแกต/แพท แต่ก่อนที่มีการสอบทางสทศ.ควรมีแบบฝึกหัดออนไลน์ออกมาให้นักเรียนได้ฝึกทำบ้าง และส่วนของเรื่องค่าสมัครควรถูกลงกว่านี้สักหน่อย เพราะครั้งหนึ่งวิชาละ 200 บ. แต่ตอนนี้เหลือ 150 บ. เด็กบางคนขาดทุนทรัพย์อาจไม่ได้เรียนต่อก็ได้ค่ะ
พี่แอนน์ : จำเป็นไหมที่ต้องสอบทุกครั้ง
น้องกะทิ: หนูว่าไม่จำเป็นค่ะ ในส่วนตัวหนูสอบแค่ 2 ครั้ง คือครั้งแรกกับครั้งที่ 3 ครั้งแรกที่ไปสอบ คือไปดูแนวข้อสอบว่าข้อสอบมีเรื่องอะไรออกบ้าง หลังจากที่เรารู้แนวข้อสอบเรากลับมาพัฒนาและทำครั้งที่ 3 ให้ดีที่สุดและผลออกมาก็เป็นที่น่าพอใจค่ะ
พี่แอนน์ : ถ้ามีการสอบแพท 8 คิดว่ายังไง
น้องกะทิ: ดีค่ะ แต่เด็กอาจคิดว่าไม่ดีก็ได้ เพราะต้องอ่านหนังสือหนักขึ้น แต่มันเป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นไม่แพ้แพทวิทย์และแพทคณิต การที่เราจะมีแพทภาษาไทย แต่ไม่ควรทำให้เหมือนกับการสอบโอเน็ต อาจทำเพื่อประยุกต์และสามารถให้เด็กนำความรู้ไปต่อยอดได้ค่ะ
พี่แอนน์ : เรียนอักษรแล้ววางอนาคตไว้อย่างไรเมื่อเรียนจบ
น้องกะทิ: หนูอยากทำงานอยู่ 3 ประเภท ซึ่งค่อยข้างฉีกแนวออกไป อย่างแรกคืออยากเป็นไกด์เพราะชอบไปเที่ยว เป็นล่าม อย่างที่ 2 อยากทำงานด้านหนังสือ นิตยสารเป็นนักข่าวหรือบรรณาธิการ อย่างสุดท้ายเวลาที่ใครได้ยินจะร้องฮะจะเป็นจิรงหรือคืออยากเป็นราชบัณฑิตที่ทำเกี่ยวกับเรื่องภาษาเกี่ยวกับในวังค่ะ (แต่เรื่องนี้ก็เกี่ยวกับอักษรอยู่แล้วนี่) ใช่ค่ะ หนูพยายามทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับที่เรียนมาค่ะ
พี่แอนน์ : มีไอดอลไหม
น้องกะทิ: มีค่ะ อย่างการท่องเที่ยวคุณพ่อค่ะ เพราะเวลาคุณพ่อไปเที่ยวชอบซื้อหนังสือมาอ่านเพื่อศึกษาข้อมูลในสถานที่ที่จะไปค่ะ ส่วนนักหนังสือพิมพ์ชอบนักเขียนที่ชื่อนิ้วกลมค่ะ ที่เขียนเรื่องโตเกียวไม่มีขาเป็นนักเขียนในเครือของ a day ค่ะ เค้าเป็นคนที่มีแนวคิดรวมสมัย มองอะไรในมุมที่คนทั่วไปไม่มองกันค่ะ ในส่วนของราชบัณฑิตไม่ได้ชื่นชอบใครเป็นพิเศษโดยส่วนตัวหนูชอบพจนานุกรมค่ะ เรารู้สึกว่าการทำงานเป็นราชบัณฑิตต้องดูแลเรื่องภาษาเรื่องอะไรที่เป็นมรดกหรือเป็นวัฒนธรรมของชาติ เพราะถ้าไม่มีใครทำต่อสิ่งดีๆ มันอาจหายไปหมดค่ะ
พี่แอนน์ : น้องกะทิเรียนดาว้องก์สาขาไหนคะ
น้องกะทิ: เรียน 2 ที่ค่ะ ช่วงม.4 เรียนที่บางกะปิ พอม.5 มาเรียนที่งามวงศ์วานค่ะ
พี่แอนน์ : รู้สึกยังไงบ้างที่ได้มาเรียนกับอ.ปิง
น้องกะทิ: รู้สึกดีค่ะ อ.ปิงใจดีสอนให้เราจำอะไรง่ายขึ้นมีสูตรจำ อย่างเรื่องลดโลกร้อนหรือเรื่องอะไรสักอย่างที่มีอยู่ 3 ประเทศ อาจารย์ให้จำว่าร้อนมวกๆ คือ จำประเทศไม่ได้ แต่มีอยู่ 3 ประเทศค่ะ คือ มอม้า วอแหวนและกอไก่มั้ง และมีจังหวัดในประเทศไทยที่ฝนตกน้อยๆ อาจารย์ให้จำว่าตกกระร่อยจ้อยมันมี ตาก กาญจนบุรี เพชรบุรี อะไรประมาณนี้ค่ะ จำไม่ค่อยได้สอบเสร็จแล้วลืมค่ะ อ.ปิงนอกจากให้วิชาความรู้ยังมีเทคนิคทำให้เราจำง่ายและสอนอย่างสนุกสนานไม่ให้เราเครียด คือสอนแบบมีสาระในขณะเดียวกันมีความสนุกแทรกไม่ให้เราเบื่อ ซึ่งเป็นวิธีสอนที่ดีค่ะ
พี่แอนน์ : มีคำแนะนำอะไรให้น้องๆ ในการเรียนหรือการเตรียมตัวสอบยังไงบ้าง
น้องกะทิ: ถ้าเป็นเรื่องการเรียนต้องบอกน้องว่าไม่ใช่เรามาเรียนพิเศษแล้วเราจะเอาความรู้แต่ที่เรียนพิเศษอย่างเดียว การเรียนพิเศษเป็นการมาเรียนรู้เพิ่ม เสริมในสิ่งที่เราไม่เคยรู้ในโรงเรียน ก่อนที่เรามาเรียนพิเศษเราควรเรียนจากให้ห้องให้ดีก่อนต้องฟังมากๆ ตั้งใจ ไม่ใช่มาเรียนแล้วหลับหรือว่าเรียนแล้วคุยกับเพื่อน เพราะถ้าทำแบบนี้เราจะไม่ได้อะไรเลย ทั้งที่โรงเรียนและที่เรียนพิเศษ เราต้องตั้งใจมากๆ ต้องทบทวน ต้องรู้จักแบ่งเวลาบังคับตัวเองให้เป็น ส่วนในเรื่องของการสอบอยากให้ทุกคนเตรียมตัวก่อนช่วงสอบ คือต้องเตรียมตัวอย่างสม่ำเสมอ และไม่ใช่ว่าใกล้สอบมาอ่านหนังสือเล่มใหญ่ๆ เวลาอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบเราควรมีปากกาขีดเฉพาะข้อความสำคัญแล้วอ่านเฉพาะข้อความสำคัญนั้นหลายๆ รอบ แล้วจดบันทึกย่อไว้อ่านก่อนสอบหลายๆ รอบอีกทีหนึ่ง ถ้าทุกคนทำได้แบบนี้หรือใกล้เคียงกับอย่างนี้เชื่อว่าน้องๆ ทุกคนน่าจะประสบความสำเร็จทุกๆ คนในการเรียนค่ะ