บทสัมภาษณ์คะแนนอันดับที่ 1 วิชาสังคม (O-NET) ปี 2553
 18 กรกฎาคม 2562 13:42:55

 

เดีย : รัญชน์ บรรเลงจิต
(คะแนนอันดับ 1 (O-NET) วิชาสังคม)

พี่แอนน์ : แนะนำตัวเองเลยค่ะ
น้องรัญชน์ : ครับผมชื่อ รัญชน์ บรรเลงจิต จบม.6 จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จบม.ต้นจากสวนกุหลาบ
(แล้วทำไมไม่เรียนสวนให้จบม.6) ผมว่าบรรยากาศที่เตรียมดีกว่าครับ แต่ช่วงที่อยู่สวนกุหลาบเป็นโรงเรียนที่สอนอะไรหลายๆ ที่ที่อื่นไม่สามารถสอนเราได้ เรื่องความเป็นพี่เป็นน้อง ความรักสถาบัน ซึ่งส่วนนี้ของสวนกุหลาบกับศิริราชจะคล้ายคลึงกันเรื่องความเป็นพี่เป็นน้องจะแรง ผมชอบเรื่องพวกนี้ครับ 

รัช5

พอมาอยู่เตรียมก็รักทั้ง 2 โรงเรียน เพราะทั้ง 2 โรงเรียนทำให้ผมมีวันนี้ครับ ไม่ใช่ว่ามาอยู่เตรียมแล้วจะไม่รักสวนไม่ใช่ 
อยากให้อาจารย์เข้าใจรวมถึงเด็กโรงเรียนอื่นที่มาอยู่เตรียม เหมือนอาจารย์บางท่านชอบต่อว่า ผมว่าการต่อว่าของอาจารย์ก็เป็นความหวังดีต่อโรงเรียน แต่ผมก็ไม่อยากให้อาจารย์ไปต่อว่าเขามาก สมมติว่ารุ่นผมโดนต่อว่ามากเลยทำให้รู้สึกไม่ดีต่อโรงเรียนทำให้แย่ลง ไม่ยากไม่เยี่ยม ไปหาอาจารย์ 
ไม่อย่ากลับไปทำอะไรให้โรงเรียน เพราะกลัวโดนว่า แต่ก็ยังรักโรงเรียนอยู่ แต่บางท่านก็เปิดใจกว้างว่าไม่เป็นไรอยู่ที่ไหนก็เป็นสวนกุหลาบเหมือนกันครับ

พี่แอนน์ : เรียนสายไหนคะ
น้องรัญชน์ : สายวิทย์-คณิต อยู่โครงการกิ๊ฟวิทย์ครับ

พี่แอนน์ : เรียนเกี่ยวกับอะไรคะ 
น้องรัญชน์ : เน้นด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะครับ (คือฟิสิกส์ เคมีและชีวะ) ครับ ซึ่งเรียนเร็วกว่าคนอื่นเค้าเพื่อน และมีสิ่งที่เรียนเพิ่มมาคือการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ครับ 

พี่แอนน์ : เราได้อะไรจากการทำโครงงานตรงนั้น 
น้องรัญชน์ : ครับ เป็นประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกับโครงการอื่น นอกจากเราเรียนเร็วภายใน 5 เทอม เทอมสุดท้ายเราได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ใช่ไหมครับ 
ใน 3 ปีมีการเชิญวิทยากรจากภายนอกมาให้ความรู้ในสิ่งที่น่าสนใจ อย่างเช่น นาโนเทคโนโลยี เรื่องตัวนำยิ่งยวด 
เป็นประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นมาที่โครงการอื่นไม่มีครับ มีไปเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ตามที่ต่างๆ มีไปศึกษาดูงานในหลายๆ ที่ครับ 

พี่แอนน์ : มีการไปแข่งขันวิชาการอะไรบ้างไหม 
น้องรัญชน์ : เฉพาะม.ปลายที่ชนะเลิศนะครับ มีไปแข่งความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ของศิริราช ไปแข่งไบโอคอนเทสต์ชิงถ้วยพระราชทานฟ้าหญิงองค์เล็ก แข่งงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ของจุฬาฯ (เยอะมากนะ) (หัวเราะ) ครับ ได้เหรียญทองชีวะโอลิมปิกของสอวน.(มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา) ระดับชาติครับ 

พี่แอนน์ : เรียนเกี่ยวกับวิทย์อยากเรียนต่อคณะไหน 
น้องรัญชน์ : ผมตั้งใจเข้าคณะแพทย์ครับ 

พี่แอนน์ : อย่างนี้เอาไปประยุกต์เรียนแพทย์ได้อย่างไร 
น้องรัญชน์ : ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน อย่างวิทย์-คุณภาพเขาพูดว่าเตรียมตัวเป็นหมอครับ ผมว่าก็ไม่ค่อยจะจริงสักเท่าไหร่ เนื่องจากเด็กส่วนมากลำดับต้นๆ เลือกวิทย์-คอมกัน คือวิทย์-คณิตที่ผมเรียนและเป็นกลุ่มส่วนใหญ่ที่เข้าไปเรียนหมอกัน เพราะหมอเน้นเรื่องวิทยาศาสตร์อยู่แล้วครับ 

พี่แอนน์ : ได้ที่ 1 สังคมเราคาดหวังตรงนี้มากน้อยแค่ไหน 
น้องรัญชน์ : ค่อนข้างครับ เพราะผมอ่านอยู่ 2 วิชานี้ คือไทย-สังคม อยากลองว่าถ้าเราตั้งใจทำจริงๆ เราจะทำได้หรือเปล่าและเป็นวิชาที่ผมชอบอยู่แล้วด้วยครับ สังคมชอบอ่านเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และอะไรอีกหลายๆ อย่างครับ

พี่แอนน์ : สังคมชอบเรื่องอะไรมากที่สุด และมีเรื่องที่ไม่อยากเรียนไหม 
น้องรัญชน์ : ในสังคมชอบประวัติศาสตร์ เพราะเป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงกันมาเรื่อยๆ ครับ เหมือนเป็นนิยาย นิทาน หรือหนังเรื่องหนึ่งของเรา ส่วนที่ไม่ค่อยชอบคือภูมิศาสตร์เพราะว่ามันค่อนข้างต้องจำครับ

พี่แอนน์ : น้องรัญชน์ไม่ค่อยชอบจำหรือ 
น้องรัญชน์ : ไม่ใช่ไม่ชอบจำ แต่ภูมิศาสตร์มันเป็นเรื่องไม่ค่อยน่าจำครับ (หัวเราะ) สำหรับผมครับ

พี่แอนน์ : ภาษาไทยและวิชาอื่นได้เท่าไหร่บ้าง 
น้องรัญชน์ : ภาษาไทยได้ 87 อังกฤษ 88.57 คณิต 95 และวิทย์ 88.75 ครับ

พี่แอนน์ : น้องรัญชน์ไปสอบตรงบ้างไหมหรือรอแอดกลางคะ
น้องรัญชน์ : ของผมคือ ผมไปเข้าค่ายชีวะโอลิมปิกจะมีโควตาเข้าคณะแพทย์ของจุฬากับศิริราชครับ ได้ทั้งคู่ครับ 

รัช4
พี่แอนน์ :
 เลือกเรียนต่อที่ไหน

น้องรัญชน์ : ตอนแรกเลือกศิริราชไว้ครับ แต่พอได้ทุนเล่าเรียนหลวง (ทุน King) ผมเลือกทุนนี้แทนครับ คือถ้าผมไม่ได้ทุนเล่าเรียนหลวงผมก็เรียนที่ศิริราช 

พี่แอนน์ : ถ้าไม่ได้ทุนเล่าเรียนหลวงทำไมถึงเลือกเรียนที่ศิริราช 
น้องรัญชน์ : เป็นอะไรที่คนถามเยอะมาก เด็กเตรียมส่วนมากเข้าจุฬา คือผมว่าศิริราชเรื่องแพทย์เขาดูมีความเก่าแก่กว่า ดูมีเสน่ห์เป็นมนต์ขลัง และจากที่ถามๆ รุ่นพี่มาเค้าบอกว่าที่ศิริราชสอนให้เราเป็นหมอที่ดี เรียนหนักก็จริงแต่เราถือว่าเราได้ฝึกเพื่อทำให้เรามีทักษะเกี่ยวกับการแพทย์มากกว่าครับ 

พี่แอนน์ : ไม่ใช่เราเรียนอยู่เตรียมแล้วเบื่อสิ่งแวดล้อมหรือ 
น้องรัญชน์ : ไม่ครับ (หัวเราะ) ไม่มีใครเบื่อแน่ๆ อีกอย่างที่ผมอยากเข้าศิริราชเพราะว่าคุณพ่อกับพี่ผมก็เรียนศิริราช แต่คุณพ่อกับพี่ก็ไม่ได้มาบังคับหรือกดดันว่าต้องเลือกศิริราช แต่ผมลองถามคุณพ่อกับพี่ว่าเป็นยังไง คุณพ่อก็เล่าให้ฟังเป็นลักษณะคล้ายๆ รุ่นพี่ที่ศิริราชบอกครับ

พี่แอนน์ : น้องรัญชน์ไม่อยากฉีกบ้างหรือในเมื่อคุณพ่อกับพี่เรียนศิริราชเราเรียนจุฬา
น้องรัญชน์ : ได้เหมือนกันหมด 3 คนเลยก็ดีครับ (หัวเราะ) ทั้งบ้านเลย

พี่แอนน์ : ขอวกกลับไปที่ทุนคิงส์หน่อยว่าเป็นยังไง 
น้องรัญชน์ : คือผมทราบว่ามีทุนเล่าเรียนหลวงตอนมาเรียนเตรียมครับ ที่ให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศแต่ผมนึกอยู่เสมอว่าสอบยากมาก คนสอบเยอะมากและสายวิทย์รับ 5 คน ผมไม่ได้คิดอะไรแต่คุณแม่บอกให้ผมไปลองสอบคือสอบให้คุณพ่อเค้าหน่อย ผมก็ไปสมัครและบอกคุณพ่อ-คุณแม่ว่าอย่าคาดหวังเรื่องนี้มากผมไม่ได้เตรียมตัวอะไร เพราะว่าหลายคนที่เค้าตั้งใจอยากได้ทุนมีการเตรียมตัวอย่างดี แต่ผมไม่ได้เตรียมตัวอะไรเท่าไหร่ ผมอาศัยวิชาที่สูสีเป็นวิชาที่เป็นตัวตัดกันคือไทยกับสังคม เพราะว่าเลข อังกฤษ และวิทยาศาสตร์ส่วนมากมีความรู้เท่าๆ กันใช่ไหมครับ ส่วนที่ทุนคิงส์เน้นเป็นพิเศษคือไทยกับสังคม เพราะเป็นเรื่องการเขียนบรรยาย การเขียนวิเคราะห์แสดงความคิดเห็นครับ อาศัยผมชอบสังคมชอบคิดชอบดูข่าวสารบ้านเมืองและชอบอ่าน อ่านที่ดาว้องก์สรุปด้วย ทำให้เราคิดและเขียนออกมาได้ค่อนข้างดีครับ ตอนแรกประกาศผลผมติด 1 ใน 10 คน แต่เขาเอา 5 คน ไปสัมภาษณ์ ตอนสัมภาษณ์ตื่นเต้นมาก รอผลนี่ลุ้นมากพอเพื่อนโทรมาบอกผมดีใจมากไม่น่าเชื่อว่าเราจะได้ คุณพ่อ-คุณแม่ก็ภูมิใจและดีใจครับ

พี่แอนน์ : ทุนคิงส์ไปเรียนต่อด้านไหน 
น้องรัญชน์ : ผมตั้งใจเรียนคณะแพทย์ครับที่อเมริกา

พี่แอนน์ : มีการเลือกอะไรบ้างหรือยัง 
น้องรัญชน์ : ยังครับ ไปที่อเมริกาผมต้องไปเรียนมัธยมปลายก่อน 1 ปี ถึงสมัครเข้ามหาวิทยาลัยได้ครับ ต้องดูศักยภาพเราอีกทีว่าจะถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างฮาร์วาร์ดหรือเปล่าต้องดูอีกทีครับ เหมือนเราต้องไปสอบโอเน็ตของเค้าครับ 

พี่แอนน์ : การไปเรียนต่างประเทศไม่เน้นภาษาหรือ 
น้องรัญชน์ : เน้นครับ นักเรียนทุนคิงส์คนไหนได้คะแนนภาษาอังกฤษน้อยกว่า 60 คะแนน เค้าไม่ดูวิชาอื่นเลย และไม่ได้ส่งเราไปเรียนเลยต้องมีการปรับภาษา ไปเรียนรู้วัฒนธรรมของที่นั่น 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้เราปรับตัวได้ครับ

พี่แอนน์ : ทุนคิงส์ให้ถึงป.เอกไหม 
น้องรัญชน์ : แค่ป.ตรี แต่มีทุนรัฐบาลให้สำหรับนักเรียนที่เคยได้ทุนคิงส์ต่อไปถึงป.เอกครับ 

พี่แอนน์ : อย่างนี้จบป.ตรีต้องมาสอบทุนป.โท ป.เอกไหม 
น้องรัญชน์ : ไม่ต้องครับ แต่เราต้องมาติดต่อกับทางรัฐบาลว่าต้องการเรียนต่อเค้าก็พิจารณาให้ทุนต่อครับ 

พี่แอนน์ : มีการเตรียมตัวหรือยัง 
น้องรัญชน์ : ตามกำหนดเดินทางวันที่ 12 มิ.ย.ครับ แต่ผมยังต้องดูก่อน เพราะผมได้เข้าค่ายชีวะโอลิมปิกและถ้าติด 1 ใน 4 เป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขัน
ก็ต้องเดินทางไปทีหลังครับ เพราะเราต้องเข้าค่ายเก็บตัวเพื่อเป็นตัวแทนครับ

พี่แอนน์ : ทุนที่ได้กำหนดหรือป่าวว่าต้องไปอเมริกา 
น้องรัญชน์ : ทุนคิงส์ไปเรียนที่ไหนก็ได้ครับ แต่สาเหตุที่ผมและนักเรียนทุนส่วนใหญ่เลือกไปอเมริกาเพราะว่าอเมริกามีระบบการศึกษาที่ดีในทุกๆ ด้าน
ไม่ว่าเป็นสายวิทย์ อย่างหมอ วิศวะ หรือเศรษฐศาสตร์ อเมริกาเป็นผู้นำของทั้งโลกครับ 

พี่แอนน์ : ตอนเรียนมีทำกิจกรรมอะไรบ้างไหม 
น้องรัญชน์ : กิจกรรมที่ทำในช่วงม.ปลายเยอะที่สุดก็ตอน ม.5 ผมเป็นประธานชมรมปรัชญาครับ มีกีฬาประเพณี งานกีฬาสี กิจกรรมผมไม่ถือว่าเป็นอะไรที่เบียดบังการเรียนครับ แต่ถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราคลายเครียดและช่วยเพิ่มประสบการณ์ให้เรามากกว่าครับ 

รัช3

พี่แอนน์ : มีเคล็ดลับในการเรียนและมีการเตรียมตัวสอบยังไง 
น้องรัญชน์ : ถ้าเป็นการสอบของโรงเรียนพวกวิชาไทย สังคม พระพุทธ หรือวิทยาศาสตร์ก็ดี ผมชอบอ่านแล้วเหมือนสอนตัวเองคือ ทำความเข้าใจกับมัน อย่างผมที่ทำคือคล้ายๆ พูดคนเดียวหรือพูดกับกระจก การที่เราพูดออกมาเหมือนสอนตัวเองครับ การที่เราได้พูดบ่อยๆ ทำให้เราจำได้ดีขึ้นครับ ส่วนการเตรียมตัวสอบอย่างอื่นก็เช่นเดียวกันครับใช้วิธีนี้เหมือนกันครับ

พี่แอนน์ : ข้อสอบปีนี้เป็นยังไง 
น้องรัญชน์ : ผมว่าถ้าเทียบแต่ละข้อก็เหมือนๆ กัน ถ้าเทียบกับความยากที่ยังไม่เปลี่ยนระบบ แต่ปีนี้ที่หลายๆ คนบ่นว่ายากกันคงเป็นช่วง 50 ข้อที่มีให้เลือกชอยส์หลายๆ ข้อ ความยากเพิ่มขึ้นแต่ไม่น่าต่างกันมากถ้าเรารู้จริงก็สามารถทำได้ ผมไม่ค่อยชอบชอยส์แบบนี้เท่าไหร่ครับ เพราะว่าถ้าต้องตอบ 3 ข้อ แต่เรารู้แค่ 2 ข้อหรือข้อเดียวเราก็ได้ศูนย์ไม่ค่อยแฟร์กับนักเรียนเท่าไหร่ครับ (เพราะเราเป็นเด็กเตรียมป่าวทำให้เราคิดอย่างนี้) หัวเราะ ไม่ใช่ครับ
 

พี่แอนน์ : เคยได้ยินไหมว่าเด็กเตรียมเป็นเหมือนเด็กขั้นเทพคิดยังไง 
น้องรัญชน์ : ครับ คิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรฐานการศึกษาด้วยครับที่เรายังไม่เท่าเทียมกัน ถ้าดูเกณฑ์คะแนนจากสทศ.ที่ประกาศมาค่าเฉลี่ยของเด็กไทยม.6 ทุกวิชาตกหมดใช่ไหมครับ เรายังไม่พูดถึงการสอบนะครับ แต่เราพูดถึงการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึงมากกว่าในเด็กต่างจังหวัด แต่เป็นเรื่องที่ทำได้ยากไม่สามารถทำได้ทันทีทันใดต้องค่อยๆ ทำครับ อย่างของต่างประเทศมาตรฐานการศึกษาเค้าเท่ากันหมดไม่ว่าเป็นอังกฤษหรืออเมริกา เพราะอย่างนั้นการสอบวัดผลทำได้ง่ายขึ้นและไม่เกิดปัญหา อย่างสทศ.พูดมาว่าเด็กไทยค่าเฉลี่ยตกก็หาว่าเด็กไทยสมัยนี้ไม่ตั้งใจเรียน แต่ว่าเป็นเพราะการกระจายการศึกษาของเราไม่ดีมากกว่าครับ ข้อสอบวัดผลบางอย่างวัดเด็กได้ไม่ดีเท่าที่ควรครับ 

พี่แอนน์ : การสอบเอนทรานซ์อย่างสมัยก่อนที่สอบครั้งเดียวกับสมัยนี้ที่สอบหลายครั้งอย่างไหนเหมาะกับเด็กในปัจจุบัน
น้องรัญชน์ : ผมชอบแบบเอนท์สมัยก่อนมากกว่า แต่การสอบหลายๆ ครั้งก็ดีเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กครับ 

พี่แอนน์ : ข้อสอบในแต่ละครั้งมีมาตรฐานเท่ากันไหม 
น้องรัญชน์ : ผมคิดว่าการสอบแต่ละครั้ง สทศ.หรือคนที่จัดการสอบต้องไม่พยายามเปลี่ยนแปลงอะไร ดูอย่างปีที่ผมสอบการสอบวิชาเลขมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้ายให้มีการฝนคำตอบเพิ่มด้วย ถ้าชอยส์เหมือนกันควรให้เหมือนกันทั้ง 3 ครั้ง ผมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของการศึกษาไทยคือผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาควรฟังเสียงของเด็กให้มากยิ่งขึ้น เพราะเด็กเป็นผู้เรียน เป็นผู้สอบและเป็นผู้ที่ถูกวัดผลทุกๆ อย่างที่เค้าทำส่งผลถึงเด็ก ยังไงต้องฟังเด็กให้มากกว่านี้ เหมือนกับว่าผู้เกี่ยวข้องต้องมีความคิดแบบเด็กบ้างนิดหนึ่ง อย่างไปคิดตามทฤษฎีเป๊ะๆ ว่าอย่างนั้นดี อย่างโน้นดี คิดถึงความเป็นจริงให้มากที่สุดครับ

พี่แอนน์ : อยากเรียนแพทย์เฉพาะทางด้านไหน 
น้องรัญชน์ : เรื่องเฉพาะทางยังไม่ได้คิดไว้ครับ เราต้องไปลองเรียนก่อนว่าเราชอบด้านไหนหรือถนัดในด้านไหนครับ (ไม่ได้คิดไว้เลย) ไม่มีครับ มีแต่คิดว่าไม่อยากเป็นหมอแบบไหน และไม่อยากผ่าตัดเท่าไหร่ ไม่ได้กลัวแต่เพราะผมขี้ลืม อาจเป็นหมออายุรกรรมที่รักษาโรคทั่วๆ ไปหรือรักษาด้วยยาไม่ต้องผ่าตัดครับ
พี่แอนน์ : มีอุดมการณ์ในการเป็นหมอยังไง 
น้องรัญชน์ : ขอยกคำของพระบรมราชชนก ท่านบอกไว้ว่า I don't want you to be only a doctor but I also want you to be a man
คนที่จะเป็นหมอไม่ใช่ว่าเรียนจบหมอแล้วเป็นหมอ แต่ต้องเป็นคนที่สมบูรณ์ด้วย ต้องยอมรับเด็กไทยสมัยนี้ที่เรียนหมอแต่อยากเป็นหมอจริงๆ นี่น้อยมากๆ ส่วนมากเป็นเพราะพ่อแม่อยากให้เป็นเพราะอาชีพมั่นคง รายได้ดี ก็ต้องยอมรับกัน ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ใช่อุดมการณ์การเป็นหมอที่แท้จริงครับ
เพราะว่าการเป็นหมอเราต้องเสียสละ ขนาดนักเรียนแพทย์บางคนยังรักสบายเลยผมว่าไม่ถูกต้องเท่าไหร่ บางคนบอกว่าเข้าที่นี่ดีนะเพราะเรียนสบายซึ่งไม่ถูกต้อง เรามาเป็นหมอชีวิตของเราก็ไม่ใช่เพื่อตัวเราอีกต่อไปเราต้องทำเพื่อคนอื่นอย่างแท้จริงถึงเป็นหมอที่แท้จริงครับ

รัช2

พี่แอนน์ : รัญชน์คิดยังไงกับเด็กซิ่วบ้างอย่างเรียนหมอได้ปีหนึ่งแล้วรู้ว่าไม่ไหวจะซิ่ว
น้องรัญชน์ : ผมว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องครับ เพราะว่าการเรียนหมอจบมาแล้วไม่ใช่สิ่งที่เราชอบเป็นหมอไม่ได้สบายอย่างที่คิดแบบนั่งทำงานแล้วเงินก็มา ผมเห็นตัวอย่างจากคุณพ่อก็ดีหรือพี่ที่กำลังเรียนอยู่รู้ว่าหนักและลำบากมาก ถ้าเราจบออกมาแล้วต้องมาเจอกับสิ่งไม่ชอบไปตลอดคงไม่มีความสุขควรเลือกในสิ่งที่ตัวเองชอบมากกว่า

พี่แอนน์ : อย่างนี้ไม่ถือว่าไปแย่งที่เรียนเด็กในปีนั้นหรือ 
น้องรัญชน์ : เราต้องให้โอกาสเค้า อย่าเห็นแก่ตัวมากเกินไป เพราะเด็กซิ่วแต่ละปีไม่ได้กินพื้นที่เยอะมาก เราควรเปิดโอกาสให้เค้าบ้าง การที่เราต้องเรียนอะไรที่ไม่ชอบมันไม่มีความสุข อยากให้เราเห็นใจคนอื่น อย่างเห็นแก่ตัวเกินไปครับ

พี่แอนน์ : ตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับการเรียนยังไงบ้าง
น้องรัญชน์ : เมื่อเรียนจบมาผมจะมาเป็นหมอที่เมืองไทย และไม่ได้รักษาอย่างเดียวอยากทำการวิจัยเกี่ยวกับการแพทย์ไปด้วย เพราะอย่างที่เราได้ยินทุกวันนี้ว่าแพทย์ประเทศนั้น ประเทศนี้ค้นพบต่างๆ มากมาย ประเทศไทยก็มี แต่เรายังขาดแคลนหมอที่ทำวิจัยส่วนมากเป็นหมอที่รักษาโรคอย่างเดียวไม่มีการทำวิจัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เราแค่ก้าวทันโลกแต่ไม่มีทางก้าวล้ำเค้าได้ เราต้องคอยก๊อปปี้เค้าตลอดครับ

พี่แอนน์ : การเรียนหมอที่ไทยกับอเมริกาใช้ระยะเวลาเรียนเท่ากันไหม
น้องรัญชน์ : ของไทยเรียน 5 ปี พอปี 6 เป็นแพทย์ฝึกหัดรวมเป็น 6 ปี แต่ของอเมริกาเค้าให้เราเรียนปริญญาตรีอะไรก็ได้อย่างหนึ่ง 4 ปีก่อน จึงค่อยมาเรียนปริญญาตรีหมอต่ออีก 4 ปี แล้ว 8 ปีนี่ไม่ใช่จบออกมาเป็นหมอทำงานได้เลยนะครับ ต้องไปต่อเฉพาะทางอีก เพราะฉะนั้นจะใช้ระยะเวลายาวนานกว่าเมืองไทยเยอะ แต่ผมว่าการที่มีทำแบบนี้มีเหตุผลว่าหมอเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือทางสังคมควรมีวุฒิภาวะที่ดีครับ กว่าจะจบก็คงอายุ 30 กว่าครับ (หัวเราะ)

พี่แอนน์ : มีไอดอลในเรื่องการเรียนและการดำเนินชีวิตไหม 
น้องรัญชน์ : คุณพ่อ-คุณแม่ และบุคคลที่ผมเคารพและเทิดทูนมากคือในหลวงครับ ทุกครั้งที่เราทำอะไรแล้วเราเหนื่อยแค่เราตั้งใจอ่านหนังสือเตรียมสอบทำเพื่อตัวเราเองแท้ๆ เรายังทำไม่ได้ แต่ดูในหลวงท่านซิทำมาตลอด 60 ปี งานของท่านแต่ละอย่างยากและลำบาก ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่เหมือนใครในโลกครับ ถือว่าเป็นโชคดีของเราที่มีพระองค์ท่านเป็นกษัตริย์ครับ

รัช1

พี่แอนน์ :
 เรียนดาว้องก์สาขาไหน 

น้องรัญชน์ : สาขาสยาม คอร์สอินเทนซีปครับ

พี่แอนน์ : ที่ได้ที่ 1 สังคมนี่เราเก่งหรือครูเก่ง 
น้องรัญชน์ : (หัวเราะ) ต้องบอกว่า 2 อย่างประกอบกัน อย่างอ.ปิงมีเทคนิคการสอนที่ดี ทำให้ผมจำได้ต้องให้เครดิตอ.ปิงอย่างมากครับ แต่ไม่ได้บอกว่าอาจารย์เก่งอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นทุกคนคงได้ท๊อปสังคมหมดผมว่าขึ้นอยู่กับเด็กด้วย แต่ไม่ใช่ว่าเด็กคนนั้นเก่ง อยู่ที่ว่าเด็กคนนั้นตั้งใจอ่านใส่ใจกับวิชานั้นๆ มากขนาดไหน อย่างโอเน็ตเพื่อนผมบางคนสอบๆ ไปอย่างนั้นเข้าหมอเอาแค่เกิน 60% ไม่ได้ตั้งใจอ่านเท่าไหร่ มันอยู่ที่ความตั้งใจของเรามากกว่า ถ้าเราตั้งใจทำจริงๆ เราก็ประสบความสำเร็จครับ

พี่แอนน์ : มีน้องถามว่าพี่ๆ ที่เตรียมอุดมทำไมถึงได้เก่ง 
น้องรัญชน์ : จริงๆ น้องมาดูที่เตรียมแล้วจะรู้ว่ามันต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เด็กเตรียมทุกคนก่อนที่จะเข้าเตรียมจินตนาการไว้ว่าวันๆ ต้องอ่านแต่หนังสือเรียน พอเข้ามาจริงๆ แล้วคนละเรื่องแบบตรงกันข้ามซะด้วยซ้ำ แต่ไม่ได้บอกไม่ตั้งใจเรียนนะ เรียนก็ตั้งใจเรียน คือไม่ได้เรียนอย่างเดียว มีทำหลายๆ อย่างด้วยครับ 

พี่แอนน์ : ฝากหรือแนะนำอะไรน้องๆ เกี่ยวกับการเรียนและการสอบบ้างไหม
น้องรัญชน์ : สิ่งที่สำคัญที่สุดอยากให้น้องๆ มีความตั้งใจจริง อย่าไปคิดว่าเราจะได้คะแนนไม่ดี เราทำไม่ได้แต่ให้คิดว่าเราทำได้และหมั่นสร้างกำลังใจให้ตัวเองเสมอ พยายามคิดในแง่ดีเข้าไว้มีความตั้งใจ แต่อย่าเข้มงวดกับตัวเองมากเกินไป รู้จักพักผ่อนบ้าง อย่ากดดันตัวเองและเพื่อนอย่าไปไซโคเพื่อนให้เพื่อนกังวล เวลาท้อแท้หรือสิ้นหวังอย่าคิดว่ามีเราคนเดียว เรายังมีพ่อแม่ยังมีเพื่อนและเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นอะไรที่ดีมากครับ 

***เราเป็นหมอชีวิตของเราไม่ใช่เพื่อตัวเราอีกต่อไปเราต้องทำเพื่อคนอื่นอย่างแท้จริงถึงเป็นหมอที่แท้จริง***

 

loading
loading
เพิ่มในกระเป๋าแล้ว
×
ชื่อคอร์ส
ราคา บาท
Line OA @davance
ติดต่อพี่แอดมิน