น้องแชมป์ : วศิน ทรรศนียศิลป์ (ที่ 1 ประเทศ วิชาสังคม O-NET ปี 2552)
|

พี่แอนน์ : รายงานตัวหน่อยค่ะ น้องแชมป์ : ชื่อวศิน ทรรศนียศิลป์ ชื่อเล่น แชมป์ครับ
พี่แอนน์ : จบจากโรงเรียนอะไร น้องแชมป์ : โรงเรียนวัดสุทธิวราราม สายวิทย์-คณิตครับ
พี่แอนน์ : ความรู้สึกตอนแรกที่รู้ว่าได้คะแนนท๊อปโอเน็ตสังคมเป็นไง น้องแชมป์ : อึ้งครับ 85 เป็นค่าแม็กซิมั่มเลยหรือในปีนี้ เปิดจากเว็บดูก็นั่งงงอยู่พักนึ่งครับ
พี่แอนน์ : แชมป์เทียบกับคะแนนปีที่แล้วมั๊ย น้องแชมป์ : ครับ ตอนแรกมาดูได้ 85 คือประกาศโอเน็ตก่อนใช่มั๊ยครับ แล้วค่อยประกาศแอดมิชชั่นทีหลัง 85 คงไม่ถึงขนาดนั้นหรอกมั้ง เพื่อนๆ ก็แซวกัน เมื่อเทียบกับเพื่อนเราสูงกว่าเค้าเยอะครับ ก็ยังดูของปีที่แล้วและปีก่อนหน้า แต่ไม่คิดเพราะปีที่แล้ว 90 กว่า คิดว่าคงไม่ได้ครับ
พี่แอนน์ : ข้อสอบปีนี้เป็นไง น้องแชมป์ : ข้อสอบปีนี้ลักษณะถ้าคนดูดีๆ เป็นแบบว่าตอบได้กับไม่ได้ ทำได้ก็จบ ทำไม่ได้ก็เดา ลักษณะข้อสอบไม่ออกกำกวมมาให้เราคิดว่าช้อยส์ไหนกันแน่ คือได้กับไม่ได้อยู่แค่นี้ครับ.รู้สึกว่าเป็นข้อสอบที่เด่นมากในปีนี้เป็นลักษณะแบบนี้ครับ
พี่แอนน์ : ถ้าเทียบข้อสอบระหว่างปีนี้กับปีที่แล้ว น้องแชมป์ : ถ้าเทียบปีนี่ยากกว่าครับ อย่างที่บอกคือรู้กับไม่รู้ถามซอกแซกด้วย ถามหลืบถามมุมเยอะครับ
พี่แอนน์ : เวลาดูหนังสือละ น้องแชมป์ : บอกก่อนว่าผมสอบตรงติดบัญชี 5 ปี ธรรมศาสตร์แล้ว สังคมผมไม่คิดอ่านจริงจังหรือเต็มที่มาก อ่านเพื่อให้คะแนนเราดูดี ทีนี้มีอาจารย์ที่โรงเรียนมาพูดว่าถ้าได้คะแนน 80 กว่ามีรางวัลให้ และอาจารย์ก็มาท้าแชมป์และคนเก่งๆ ในห้องว่าต้องเอานะ ผมก็เอาลองดูและเริ่มอ่านแบบจริงๆ จังๆ ตั้งแต่เดือนมกราคมคือประมาณเดือนกว่าๆ ก่อนสอบครับ
พี่แอนน์ : รางวัลที่อาจารย์ให้คืออะไร น้องแชมป์ : มีพาไปเลี้ยงและไปทานข้าวกับเพื่อนๆ ครับ
พี่แอนน์ : แชมป์สอบตรงได้แล้วไม่จำเป็นต้องรอคะแนน น้องแชมป์ : ใช่ครับ แต่ช่วงนั้นเพื่อนๆ เค้าอ่านหนังสือกัน เราว่างน่าจะหาอะไรทำบ้างบวกกับอาจารย์มาท้าห้องแชมป์เลยลองดูสักวิชาก็อ่านหนังสือสอบครับ ตอนแรกไม่คิดว่าเป็นท๊อปนะครับ เพราะได้ 80 อัพก็โอเคครับ
พี่แอนน์ : เมื่อกี้บอกว่าเลือกคณะอะไรของธรรมศาสตร์ น้องแชมป์ : คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เอกบัญชี 5 ปี เรียนที่ท่าพระจันทร์
พี่แอนน์ : แชมป์เรียนสายวิทย์มาทำไมถึงเลือกสายนี้ น้องแชมป์ : แชมป์เรียนวิทย์-คณิตมาก็จริง แต่เลือกเรียนคณะสายศิลป์-คำนวณ (ทำไมละคะ) เอาบทสัมภาษณ์บอกน้องๆ นะครับ ไม่จำเป็นว่าเราเรียนสายวิทย์-คณิตแล้วต้องเข้าสายวิทย์-คณิตเสมอไป บางคนเข้ามาก็รู้ตัวว่าไม่ถนัดทางวิทย์ เราสามารถเปลี่ยนไปทางศิลป์ได้อย่าดันทุรังมาก เพราะว่าบางครั้งสิ่งที่เราไม่ถนัดจริงๆ สมควรปล่อยมัน แต่เรียนในห้องเรียนให้ได้ดี เราต้องรู้ตัวใช่มั๊ยครับว่าเราถนัดอะไรไม่ถนัดอะไร สิ่งที่ถนัดไม่จำเป็นต้องเรียนดี สิ่งที่เรียนดีไม่จำเป็นต้องถนัดเสมอไปใช่มั๊ยครับ
พี่แอนน์ : แชมป์มีเคล็ดลับในการเรียนยังไง น้องแชมป์ : แชมป์มีความเชื่อว่าการเรียนเหมือนการร้องเพลง ถึงแม้ว่าเราลืมไปแล้ว ถ้าเราร้องเพลงได้แล้ว ต่อให้อีก 10 ปี เรากับมาทวนเราก็ทวนได้เร็วกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นการเรียนทั้งม.ต้นและม.ปลายควรเรียนในห้องให้เข้าถึงแก่นมันจริงๆ แล้วพอถึงม.6 คุณไม่ได้ทบทวนสัก 1-2 ปี เวลาคุณมาทบทวนก็เร็วกว่าคนอื่นมาก เหมือนการร้องเพลง คุณอาจลืมไปแล้วว่าร้องยังไง แต่มาฟังอีกครั้งหนึ่งมันก็เร็วจำได้และเร็วกว่าคนอื่นครับ
พี่แอนน์ : แชมป์เรียนสายวิทย์-คณิตมาถือว่าเสียเปล่ามั๊ย น้องแชมป์ : เสียเปล่ามั๊ยไม่หรอกครับ การศึกษาไม่ถือว่าเสียเปล่าครับ ถ้าคิดง่ายๆ วิทย์-คณิตแน่นอนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เราได้ความรู้ตรงนั้นไป เรียนม.ปลายไม่ได้เรียนลึกหรือเรียนทฤษฎีมากมาย แต่สามารถมาแอพพลายกับชีวิตเราได้ แต่เรียนวิทย์-คณิตวิธีการของวิทยาศาสตร์เราได้แน่นอนอยู่ในตัว คุณต้องเชื่ออย่างมีเหตุผล คุณต้องทดลองก่อน คุณต้องพิสูจน์ก่อนถึงเชื่อ ชีวิตเรามันเป็นเหตุผลโดยอัตโนมัติของมันเองครับ คือได้ตรงนี้โดยไม่รู้ตัวเพราะโดยเนื้อหาวิชาที่เรียนเป็นแบบนี้อยู่แล้วครับ
พี่แอนน์ : คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีเกี่ยวกับตัวเลขแชมป์ชอบหรือ น้องแชมป์ : คำว่าตัวบัญชีมันไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเลขแบบคณิตศาสตร์ม.ปลายครับ อาจเป็นแค่การบวก ลบ คูณ หาร แบบเบสิก แต่ไม่ถึงกับ sin cos tan มันคนละเรื่องกัน คือมันจะวนเข้าวงจรของธุรกิจไปครับ
 พี่แอนน์ : ของแชมป์สอบตรง น้องแชมป์ : สอบสมาร์ทวัน ครับ
พี่แอนน์ : ขั้นตอนและวิธีการสมัคร น้องแชมป์ : ที่แชมป์สอบเป็นสมาร์ทวันครับเมื่อปีที่แล้วนี่ สมาร์ทวันก็คล้ายๆ แนว GAT/PAT เหมือนเค้าเอาแบบ มาหรือเปล่าไม่รู้ สมาร์ทวันปีหนึ่งสอบได้ 5 รอบ แล้วเลือกรอบที่ดีที่สุดยื่นคะแนนเข้าไป สมาร์ทวันมีสอบเซ็กชั่นหลักๆ 4 วิชา มีเลข มีการอ่าน มีภาษาอังกฤษ และความรู้รอบตัว (การอ่านคืออะไร) อ่านจับใจความครับไม่รู้เหมือนข้อสอบ GAT หรือเปล่านะครับ (ภาษาไทย) ภาษาไทยครับ เค้าให้แพสเสธมายาวๆ ว่าเนื้อเรื่องนี้บอกอะไร ถามรายละเอียดเนื้อเรื่อง แล้วให้เราตีความขึ้นมา ส่วนเลขไม่ยากนะแต่ว่าอยู่ที่คุณคิดทันหรือป่าวเป็นการเอาทฤษฎีของม.ต้นมาปรับแล้วคุณคิดตัวเลขให้ทันเท่านั้น
พี่แอนน์ : หลักสูตร 4 ปีกับ 5 ปีแตกต่างกันอย่างไร น้องแชมป์ : คือว่า คำถามนี้ดีมากเลย บอกน้องๆ เลยว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่ใช้ตอนสอบสัมภาษณ์ คือว่า 4 ปีเรียนหลักสูตรตามปกติ แต่หลักสูตร 5 ปี คือป.ตรี+ป.โท ลักษณะการเรียนคือการบูรณาการความรู้ มีรุ่นพี่ที่เรียนมาบอกว่าอย่างช่วงแรกๆ วิชาที่เรียน 4 ปี บางวิชาอาจเรียนเยอะ แต่เราเรียนอัดเข้าไปบูรณาการความรู้ เอาตัวเคสขึ้นมาเคสหนึ่ง คุณสามารถเรียนรู้จากเคสนี้ได้มากมายเลยหลายองค์ความรู้ครับ
พี่แอนน์ : เหมือนกับว่า 4 ปีเรียนจบพอปี 5 เป็นการปูพื้นฐานของป.โทป่าว น้องแชมป์ : หลักสูตร 5 ปี คือ 3 ปีครึ่งจบป.ตรี ป.โทอีก 1 ปีครึ่งครับ
พี่แอนน์ : ปริญญาที่ได้หล่ะ น้องแชมป์ : ได้ 2 ใบครับ (ทั้งป.ตรี และป.โทเลย) ครับ
พี่แอนน์ : สอบสมาร์ทวันทีเดียวได้ น้องแชมป์ : ใช่ครับ แต่มีเงื่อนไขว่าก่อนขึ้นป.โทต้องมีเกรดเฉลี่ย 3.00 ครับ คือจบ 3 ปีครึ่งต้องได้เกรด 3.00 ถึงขึ้นป.โทได้ ไม่อย่างนั้นก็ต้องสอบสมาร์ททู มีสมาร์ทวันก็มีสมาร์ททู (ในกรณีที่เกรดไม่ถึง) ใช่ครับเกรดไม่ถึงต้องสอบเข้ามาเรียนใหม่มีสิทธิ์นะ แต่คุณต้องสอบเข้า แต่ถ้า 3.00 คุณเรียนได้เลยครับ
พี่แอนน์ : แชมป์คิดว่าดีมั๊ยเรียน 5 ปีแบบนี้ น้องแชมป์ : ดีครับ กระชับดีแล้วเรียนได้วุฒิสูงด้วย แต่บัญชีสุดท้ายต้องไปสอบวิชาชีพ ซึ่งถ้าเรามีความรู้มากตรงนั้นก็โอเคเป็นผลดีกับเราครับ
พี่แอนน์ : ช่วงก่อนสอบแชมป์ดูหนังสือหนักมั๊ย น้องแชมป์ : สอบสมาร์ทวันดูหนังสือหนักมาก เพราะว่าต้องการเข้า สมาร์ทวันแชมป์สอบตั้งแต่ปีที่แล้ว คือสมาร์ทวันมีอายุคะแนน 2 ปี นั้นหมายความว่าคนที่อยู่ม.5 เทอม 1 สามารถสอบได้เลยจนถึงม.6 เทอม 2 แชมป์สอบ ม.5 เทอม 2 สุดท้ายของรอบปีก่อนประมาณปี 50 ครับ ตอนแรกสอบไปแล้วคะแนนไม่ดี พอช่วงปิดเทอมมาเรียนอินเทนซิปที่ดาว้องก์ แชมป์อ่านสมาร์ทวันเยอะมาก ส่วนวิธีการอ่านหนังสือสอบสมาร์ทวันบอกน้องๆ เลยว่า ภาษาอังกฤษยอมรับว่ายากสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานด้านนี้จริงๆ อยากให้เตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ส่วนเลขอย่างที่บอกคือข้อสอบแนวเดิมไปซื้อของตลาดได้ แต่ที่สำคัญต้องคิดให้ทัน ส่วนการอ่านคิดว่าเป็นส่วนไม่น่าพลาดคะแนน เพราะว่ามันไม่ยาก ส่วนความรู้รอบตัวคือรอบโลกจริงๆ คือบางอย่างถามแบบแล้วจะรู้มั๊ยเนี่ย คือมันใกล้ตัวมาก และแนะนำว่าประมาณ 10 วันก่อนสอบให้เช็คข้อมูลข่าวสารด้วย เพราะว่าข่าวบางข่าว 2-3 วันก่อนสอบเค้าเอามาออกได้ แชมป์เคยเจอเหมือนกันก็งงว่าพิมพ์ข้อสอบทันได้ยังไงครับ
พี่แอนน์ : ช่วงก่อนสอบให้น้องๆ ติดตามข่าวสารตลอดเวลา น้องแชมป์ : ใช่ครับ ตลอดเวลาจนกว่าสอบเสร็จ อย่างในเว็บดาว้องก์ก็มีอัพเดทข้อมูลใช้ได้ครับ เพราะปีที่แล้วผมดูจากเว็บเหมือนกัน
พี่แอนน์ : เรียนวิทย์-คณิตมาไม่ยากเป็นหมอหรือวิศวะหรือ น้องแชมป์ : เป็นบทเรียนให้กับน้องๆ ตอนนี้ผมอยู่ม.6 ใช่ป่าว ผมกลับไปเคลียร์ห้องที่บ้านเจอกระดาษใบนึงตอน ม.2 เหมือนอาจารย์สั่งให้เขียนอาชีพในอนาคตอยากเป็นอะไร ม.2 ตอนนั้นอยากเป็นหมอครับ พอขึ้นม. 4 เลยวิทย์-คณิต พอขึ้นม. 4 ชอบวิทย์มั๊ยหนอแต่ก็เรียนไปก่อน พอขึ้นม.5 ไม่เอาแล้วตอนขึ้นม.5 สายศิลป์จริงๆ มี 2 สาย คือทางบัญชีกับทางนิติศาสตร์ ทางนิติศาสตร์เคยลองไปเรียนพิเศษติวสอบตรงแต่สายงานหรือสายความรู้มันไม่น่าจะใช่ของเรานะจากบุคลิกเรา เพราะสายนิติศาสตร์อย่างที่รู้ๆ กันว่าต้องรับฟังปัญหาของคนอื่น ไม่น่าเป็นบุคลิกของเรา ก็บัญชีดีกว่าพอคิดปุ๊บก็หยิบสมาร์ทวันเลย ตะลุยสอบตรงไปก็จบสบายครับ
พี่แอนน์ : ตอนนี้มีปัญหาแอดมิชชั่นส์ ทั้งการสอบ GAT / PAT แชมป์คิดว่ายังไง น้องแชมป์ : คิดว่า 1 เลยนี่ การสอบ GAT / PAT เป็นการสอบที่ดีมั๊ย แชมป์ว่าดีมากคือให้โอกาสเด็กสอบหลายครั้ง แต่ถ้าเป็นการสอบที่ดีจริงคุณต้องไม่เก็บเงินกับเด็ก เพราะคุณเป็นองค์กรของรัฐ ไม่ใช่ซิเป็นองค์การมหาชนไม่ของรัฐ แต่ยังไงก็แล้วแต่คุณทำงานการศึกษาระดับชาติ เพราะอย่างนั้นถ้าเกิดคุณสอบบอกว่า GAT / PAT เด็กจำเป็นต้องสอบตอน ม.5 ก็ได้ แต่ถามว่าถ้าเผื่อคุณมีโอกาสสอบคุณก็ต้องสอบผู้ปกครองเด็กทุกคนก็ให้สอบ แต่เรื่องเงินละครับเด็กบางคนเขาไม่มีคือไม่มีจริงๆ น่าเห็นใจตรงนี้เขาบ้าง และอีกประการหนึ่งคือPATไม่มีสอบไทย-สังคม เพราะงั้นคณะที่ต้องใช้ไทย-สังคมจริงๆ ก็วัดเด็กไม่ได้ บางครั้งมาบอกว่าสังคมอยู่ใน GAT แล้ว อย่างนี้ใครๆ ก็อ้างได้ว่าอยู่ในข้อสอบแล้ว ถูกป่าวครับ มันเป็นอย่างนี้ซะ น่ามีข้อสอบที่วัดภาษาไทยและสังคมออกมา แต่เด็กอาจมองว่าสอบเยอะไปหรือเปล่า แต่ผมคิดว่าถ้าน้องรู้ว่าตัวเองอยากเข้าคณะไหนจริงๆ ก็ไม่ลำบากพุ่งเป้าไปเลยครับ
พี่แอนน์ : แชมป์เรียนดาว้องก์ตอนไหน น้องแชมป์ : Summer ปีที่แล้วครับ สาขาสยาม เรียนคอร์สอินเทนซีป
พี่แอนน์ : ได้อะไรไปบ้าง น้องแชมป์ : ได้เยอะครับ (หัวเราะ) คือเนื้อหาแน่นอนว่าเป็นการสรุป คอร์สอินเทนซีปเป็นการสรุปเราเข้าใจเนื้อหาว่า ตกลงมันเป็นยังไงบ้างครับ และเรื่องเทคนิคการทำข้อสอบ หรือแม้แต่เรื่องที่อ.ปิงเล่าในห้อง บางครั้งบางคนมาถึงเอาแต่วิชาๆ ก็ไม่ใช่ ใช่มั๊ยครับ มันมีเรื่องเล่าขึ้นมาก็ดีครับ เป็นการให้ทักษะการใช้ชีวิตต่างๆ ครับ
 พี่แอนน์ : ถ้าอ่านหนังสือเครียดๆ แชมป์คลายเครียดยังไง น้องแชมป์ : แชมป์อ่านหนังสือไม่ถึงชั่วโมงต่อครั้ง เพราะบางครั้งสมาธิวอกแวก คือถ้าอ่านแล้ววอกแวกต้องหยุดพักสักพัก ไม่ก็หาอะไรทาน ไปดูหนัง เล่นคอมฯ หรือเล่นเอ็มครับ แล้วค่อยกับมาอ่านใหม่
พี่แอนน์ : แชมป์ไม่อ่านหนังสือยาวๆ น้องแชมป์ : ไม่ครับ ตัวแชมป์ถ้าอ่านยาวแล้วหลุด สุดท้ายอ่านทำไม 3 ชั่วโมง อ่านตอนมีสมาธิ 1 ชั่วโมงดีกว่าครับ ยังไงก็แล้วแต่ให้อ่านเรื่อยๆ อย่าตะบี้ตะบันอ่านทีเดียวตอนใกล้สอบมันไม่ได้เท่าไหร่ ให้เก็บสะสมไปเรื่อยๆ ครับ
พี่แอนน์ : แนะนำน้องๆ ในการเตรียมตัวสอบยังไง น้องแชมป์ : ที่กำลังใกล้สอบแบบว่าเหลืออีก 2 เดือนก่อนสอบ พยายามอ่านอะไรที่มันกระชับที่สุด คุณรู้เรื่องที่สุด บางคนอาจทำโน๊ตย่อเก็บไว้ตอนอยู่ในห้อง ตอนสอบย่อยทำเก็บๆ ไว้ แล้วเวลาสอบใหญ่เราเอามาอ่าน โน๊ตย่อเนี่ยเป็นสิ่งที่เรารู้เรื่องมาแล้ว ถ้าเรามาทำโน๊ตใหม่มันอาจไม่ทัน แต่บางครั้งจำเป็นต้องอ่านก็ต้องอ่านและที่สำคัญคือใกล้สอบหนีไม่พ้นแน่นอนข้อสอบเก่า แล้วแนวข้อสอบเก่าเราควรทำย้อนไปสัก 3-4 ปีก็ต้องทำ เพื่อให้เห็นว่าข้อสอบออกแนวอะไรบ้าง เป็นแบบไหนครับ
พี่แอนน์ : อย่างนี้ข้อสอบเก่าก็สำคัญ น้องแชมป์ : ใช่ครับ จำเป็นและสำคัญ โดยเฉพาะสังคม (หัวเราะ)
พี่แอนน์ : ถ้าเอาระบบเอนทรานซ์เก่ากลับมาใช้แชมป์คิดว่าไง น้องแชมป์ : ผมไม่รู้ว่าเป็นแบบไหนนะ แต่ผมอยากให้ระบบเนี่ยเป็น 1. เด็กรู้คะแนนแล้วค่อยเลือก 2. เด็กมีโอกาสสอบหลายๆ ครั้งโดยที่ไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง แค่นี้คือแค่นี้ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน คุณรู้คะแนนแล้วคุณค่อยเลือก มีสิทธิ์ไปเปรียบเทียบคะแนนกลับปีก่อน 3.คุณสอบฟรีเนื่องจากคุณเป็นพลเมืองของภาครัฐคนนึงที่ได้รับสิทธิ์ในการศึกษา 4.สอบได้หลายๆ ครั้งแล้วเลือกครั้งที่ดีที่สุดมาใช้ 5. มีวิชาที่จัดสอบตรงกับทักษะและคณะที่ต้องการเข้าครับ
พี่แอนน์ : แล้วอย่างบางคณะที่รับตรงเองละ น้องแชมป์ : บางคณะที่รับตรงเองไม่น่ามีปัญหา เพราะว่ารับตรงจริงๆ นี่ คือข้อสอบที่เค้าออกเอง คณะออกเองนั่นแสดงว่าคณะเค้าต้องคำนึงถึงว่าต้องการคนแบบไหนเค้าถึงต้องออกแบบนั้นสามารถคัดคนได้เอง
พี่แอนน์ : ถ้าให้ระบบการศึกษาเป็นระบบรับตรงหมดแชมป์ว่าดีมั๊ย น้องแชมป์ : ก็ต้องเกิดเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอีก เพราะอย่างสอบสมาร์ทวันที่อิมแพ็ค บางคนบ้านอยู่ยะลา เชียงใหม่ เชียงราย ปีหนึ่งสอบ 5 ครั้งค่าใช้จ่ายเท่าไหร่และถ้าคุณไม่มีเงินคุณทำยังไง ใช่มั๊ยครับ ยังมีจุดตรงนี้อยู่ แต่ผมยังเห็นด้วยกับการให้โอกาสเด็กสอบหลายๆ ครั้ง (เพราะได้เลือกคะแนนที่ดีที่สุด) ใช่ครับ แต่อยากติงเรื่องความเหลื่อมล้ำบางคนไม่มีเงินก็ไม่มีจริงๆ ครับ
พี่แอนน์ : ในแต่ละวิชาค่าใช้จ่ายพอสมควรเลยหรือ น้องแชมป์ : สอบสมาร์ทวัน 450 บาทต่อครั้ง และในชีวิตคุณนี่สอบสมาร์ทวันได้ 10 ครั้ง แล้วถ้ามีผู้ปกครองให้ลูกสอบทุกครั้งนั่นคือ 4,500 บาท ยังไม่รวมค่ารถ ค่าอาหาร นั่นหมายความว่าค่าสอบตรงอาจถึงหมื่นบาทได้มันไม่แน่ ยิ่งบางคนอยู่เชียงใหม่ต้องคิดถึงประมาณนี่ด้วยแค่สอบตรงนะ ค่าใช้จ่ายขนาดนี้เลยหรือ ผู้ใหญ่บางคนออกมาพูดว่าไม่ต้องสอบขนาดนั้นก็ได้ แต่ถ้าคิดว่าเป็นลูกคุณละก็ต้องคว้าโอกาส เมื่อมีโอกาสก็ต้องสอบ เพราะเราไม่รู้ว่าครั้งไหนจะดีที่สุด
พี่แอนน์ : ฝากอะไรหน่อยมั๊ย น้องแชมป์ : ฝากบอกน้องๆ ว่าเรียนในห้องเรียนตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด เพราะเหมือนที่พี่บอกถ้าเราตั้งใจเรียนแล้วเหมือนน้องได้ร้องเพลง เราจะร้องจนคล่อง ถึงแม้น้องลืมแต่เวลาน้องกลับมาทบทวน แค่ 5 นาทีสัก 3-4 รอบน้องก็จำได้ขึ้นมาเองเลยนะครับ และอย่างที่อ.ปิงสอนในห้องเรียนที่บอกว่า อ.ปิงช่วยต่อจิ๊กซอว์ให้น้องๆ แต่ผมอยากเสริมว่าถ้าน้องไม่มีจิ๊กซอว์ให้อ.ปิงต่อมันก็ไม่สมบูรณ์เหมือนกันครับ
*** *** สิ่งที่ถนัดไม่จำเป็นต้องเรียนดี สิ่งที่เรียนดีไม่จำเป็นต้องถนัดเสมอไป *** *** |