น้องบี : นันทิชา เกศวา (ที่ 1 ประเทศ วิชาภาษาไทย O-NET ปี 2552)
|
 พี่แอนน์ : รายงานตัวเลยค่ะ น้องบี : ชื่อบี นันทิชา เกศวา จบจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาค่ะ
พี่แอนน์ : สายไหนคะ น้องบี : สายวิทย์-คณิต
พี่แอนน์ : ความรู้สึกตอนที่น้องบีรู้ว่าได้ท๊อปประเทศภาษาไทยโอเน็ต น้องบี : ตอนแรกไม่รู้ค่ะ แต่เห็นคะแนนเยอะก็ลองส่งดูแล้วมีพี่โทรกลับมาทั้งดีใจและตกใจว่าเราได้ที่ 1 เลยหรือ ดีใจและภูมิใจค่ะ
พี่แอนน์ : ตอนดูหนังสือคิดว่าตัวเองได้คะแนนอันดับ 1 มั๊ย น้องบี : ไม่ได้คิดค่ะ เพราะว่าเราอ่านหนังสือปกติและหนูไม่ได้ทุ่มกับภาษาไทยเท่าไหร่ คือหนูเอนท์หมอก็ทุ่มกับวิทย์ เลข มากกว่าและเปอร์เซนต์ใช้เยอะ แต่ภาษาไทยอ่านนะคะ เพราะอ.ปิงบอกให้อ่านมันไม่ยากหนูเชื่ออาจารย์ค่ะ อาจารย์บอกว่าภาษาไทยง่าย สังคมยาก
พี่แอนน์ : น้องบีคิดว่าภาษาไทยง่ายอย่างที่อาจารย์บอกมั๊ย น้องบี : ไม่ง่ายเท่าที่อาจารย์บอกค่ะ มียากบ้าง แต่ถ้าเราอ่านเราทำได้ ไม่เหมือนสังคมที่อ่านยังไงก็ทำไม่ได้อยู่ดี
พี่แอนน์ : เพราะอะไร น้องบี : สังคมข้อสอบออกกว้าง แต่ภาษาไทยถ้าอ่านมารู้คือรู้ เราตอบได้ ข้อสอบไม่ค่อยหลอก
พี่แอนน์ : ความยาก-ง่ายของข้อสอบละ น้องบี : หนูว่าปีที่แล้วภาษาไทยยากกว่านะคะในความรู้สึกหนู ไม่รู้เป็นเพราะข้อสอบสังคมยากกว่าหรือป่าวก็ไม่รู้พอเทียบกันทำให้ภาษาไทยง่ายกว่า
พี่แอนน์ : จากข่าว PAT 8 น้องบีคิดว่าไง น้องบี : หนูว่ามันก็ดีนะคะถ้ามีการแยกสอบ เพราะว่าบางคณะต้องใช้วิชาพวกนี้เยอะ แต่บางคณะใช้น้อย การให้น้ำหนักในการสอบแต่ละคณะไม่เท่ากัน ทำให้บางคนคิดว่าไม่คุ้มที่จะอ่าน บางคนไม่อ่านเลยก็มีค่ะ แต่หนูว่าควรอ่านดีกว่าค่ะ
พี่แอนน์ : อย่างนี้ไม่ทำให้ต้องอ่านหนังสือหนักรึ น้องบี : ไม่ค่ะ ถ้าเราแบ่งเวลาให้เป็นและบางวิชาเราสามารถอ่านล่วงหน้าได้ อย่างไทย-สังคมหนูอ่านก่อนแล้วค่อยมาอ่านทวนตอนใกล้สอบอีกครั้ง อย่างภาษาไทยหนูอ่านเล่มใหญ่ของอินเทนซีป พอใกล้สอบอ่านมินิไทยบุ๊คที่เหมือนสรุปไปในตัวอีกทีค่ะ
พี่แอนน์ : มีเคล็ดลับในการเรียนหรือการดูหนังสือยังไง น้องบี : อย่างวิชาไทย-สังคมเมื่ออ่านแล้วต้องลองทำโจทย์ด้วย อย่าคิดว่าเป็นแค่วิชาอ่านเพราะจริงๆ ไม่ใช่ เราต้องเห็นโจทย์เพื่อที่เราจะได้วิเคราะห์ได้ว่าต้องทำยังไงถ้าโจทย์มาแนวนี้ค่ะ
 พี่แอนน์ : การทำข้อสอบเก่าๆ ก็มีประโยชน์ น้องบี : ใช่ค่ะ มันช่วยให้เราเข้าใจแนวข้อสอบว่าเค้าถามแบบนี้นะ คือเราดูออกเร็วขึ้นและง่ายขึ้นในการทำค่ะ
พี่แอนน์ : อยากแนะนำอะไรน้องๆ มั๊ย น้องบี : หนูว่าไม่ต้องทำข้อสอบเยอะมาก อย่างที่เรียนอินเทนซีปอาจารย์มีแจกหนังสือข้อสอบมีประมาณ 6 ชุด หนูทำแค่นั้นจริงๆ เราไม่ต้องทำย้อนไปไกลๆ มันเสียเวลา เพราะแนวข้อสอบไม่ทิ้งกันเท่าไหร่ค่ะ ทำแล้วต้องอ่านเฉลยด้วยนะคะและอ่านให้ละเอียดเพราะมันมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้เรา เพราะอ่านจากเล่มใหญ่ไม่มี การอ่านเฉลยเหมือนเป็นการสรุปให้เราด้วยค่ะ
พี่แอนน์ : ถ้ามีการเอาระบบเอนทรานซ์เก่ากลับมาใช้น้องบีคิดว่าไง น้องบี : หนูชอบที่ได้เห็นคะแนนหนูว่าอันนั้นดีกว่า มันไม่ยุติธรรมที่เราไม่เห็นคะแนนแล้วต้องเลือก บางทีเราประเมินตัวเองไม่ได้ค่ะ
พี่แอนน์ : ระบบแอดมิชชั่นดีแล้ว น้องบี : หนูว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่ค่ะ อย่างโอเน็ตสอบได้รอบเดียวถ้าไม่ดีก็ไม่ดีไปเลย แต่ยังดีกว่า GAT กับ PAT ที่ข้อสอบไม่ได้วัดอะไรเท่าไหร่ เนื้อหามันไม่ใช่ที่เรียนถึงให้สอบ 4 รอบ มันก็ไม่รู้จะอ่านอะไรไปสอบค่ะ
พี่แอนน์ : น้องบีติดที่ไหน น้องบี : หนูติดแพทย์ที่ศิริราชค่ะ
พี่แอนน์ : ตอนเรียนมีร่วมกิจกรรมบ้างมั๊ยหรือเรียนอย่างเดียว น้องบี : มีทำกิจกรรมบ้าง อย่างกีฬาสีเป็นสแตนเชียร์ เดินพาเหรด พอขึ้นม.6 ทำคัทเอาท์ไม่ได้ออกลงสแตนค่ะ
พี่แอนน์ : น้องบีเรียนหนักมั๊ยสำหรับสายวิทย์และถ้าเทียบกับสายศิลป์ละ น้องบี : ก็หนักค่ะ แต่ชินแล้วเพราะเรียนอย่างนี้มาตั้งแต่ม.4 มันค่อยๆ ชินไปไม่ได้รู้สึกว่าหนักค่ะ ถ้าเทียบกันก็หนักกว่านิดนึง แต่สายศิลป์มีความหนักเหมือนกัน อย่างหนูไม่ค่อยชอบภาษาอังกฤษ แต่สายศิลป์เรียนภาษาอังกฤษเยอะแบบนี้ค่ะ
พี่แอนน์ : น้องบีอ่านหนังสือทุกวันมั๊ย น้องบี : ถ้าไม่สอบไม่อ่านทุกวัน อย่างสอบที่โรงเรียนอ่านก่อนสอบ 2 อาทิตย์ แต่สอบเอนท์อ่านเรื่อยๆ คือเพิ่มเวลาให้มากขึ้น ช่วงแรกๆ ทำใจไม่ได้ที่ต้องอ่านหนังสือเยอะค่ะ
 พี่แอนน์ : ถ้าเครียดกับการอ่านหนังสือมีวิธีคลายเครียดยังไง น้องบี : หยุดพักมากินขนม เดินเล่น หรือดูทีวี บางทีคุยกับคุณแม่บ้าง มันต้องมีเวลาพักบ้างไม่ใช่อ่านตลอดเราต้องจัดเวลาด้วยค่ะ
พี่แอนน์ : วางอนาคตไว้ยังไงบ้าง น้องบี : ยังไม่ได้วางอะไร ขอลองเรียนดูก่อนค่ะ
พี่แอนน์ : หมอนี่เป็นความฝันของน้องบีเปล่า น้องบี : มันไม่ใช่ความใฝ่ฝันค่ะ มันมีจุดเปลี่ยน คือหนูได้ไปเข้าค่ายอยากเป็นหมอและดูเป็นอาชีพที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นด้วยก็ลองสอบดูค่ะ
พี่แอนน์ : ถ้าไม่ติดหมอน้องบีตั้งใจเรียนอะไร น้องบี : คงเป็นแนวเศรษฐศาสตร์หรือไม่ก็บัญชีค่ะ
พี่แอนน์ : การเข้าค่ายนี่เป็นจุดเปลี่ยนให้ใครหลายๆ ใช่มั๊ย น้องบี : ใช่ค่ะ บางคนพอเข้าค่ายไม่อยากเรียนก็มี เมื่อก่อนหนูไม่อยากเรียนคุณพ่อเคยถามว่าอยากเป็นหมอมั๊ย หนูบอกว่าไม่อยากเป็น อีกอย่างพี่ชายหนูก็เป็นหมอ แต่พอเข้าค่ายได้ไปเห็นก็น่าเรียนและมันไม่หนักอย่างที่คิดค่ะ
พี่แอนน์ : อย่างนี้คิดยังไงกับข่าวที่หมอโดนฟ้องร้อง น้องบี : คิดว่าเป็นส่วนน้อยที่ถูกฟ้อง ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรให้คนอื่นเดือดร้อน เราทำอะไรอย่างระมัดระวัง คิดว่าไม่น่าโดนนะคะ หนูไม่ค่อยกลัวเท่าไหร่
พี่แอนน์ : อยากเป็นหมอด้านไหนคะ น้องบี : ตอนนี้ยังไม่ได้คิดว่าอยากเป็นหมอด้านไหน คือเรายังไม่รู้ว่าเราชอบด้านไหนค่ะ
พี่แอนน์ : แล้วไม่อยากเป็นหมอฟันหรือ น้องบี : ทันตะก็อยู่ในความสนใจค่ะ คือถ้าไม่หมอก็หมอฟัน ตอนเลือกคณะเลือกหมอ 2 อันดับ หมอฟัน 2 อันดับ
พี่แอนน์ : แนะนำน้องๆ ในการเตรียมตัวสอบหรือการดูหนังสือว่าควรทำยังไง น้องบี : ปกติเรารู้อยู่แล้วว่าสอบเมื่อไหร่ เราจัดตารางแม้บางทีเราทำตามไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยเราได้มีกรอบ อีกอย่างไม่ต้องเครียดมากอ่านแบบสบายๆ เพราะถ้าเครียดยิ่งทำให้เราจำไม่ได้ และต้องจัดเวลาพักให้ตัวเองด้วย ที่สำคัญเวลาเรียนในห้องต้องตั้งใจเรียน ถ้าเราจำที่เรียนในห้องได้มันทำให้เบาในการอ่านหนังสือค่ะ
พี่แอนน์ : มาเรียนดาว้องก์ตอนไหนคะ น้องบี : เทอม 1 ของม.6 ค่ะ คอร์สอินเทนซีป คอร์สยาวมากแต่ดีค่ะ หนูชอบที่อาจารย์สอน อาจารย์มีเสียงที่หลอนเข้าไปในหัวทำให้จำติดหัว เราจำได้ว่าอ๋ออย่างนี้นะ แบบนี้นะชอบ และถ้าเรียนนานแบบนี้จริงๆ ต้องเบื่อ ต้องหลับ แต่นี่ไม่หลับ ไม่เบื่อ อาจารย์มีมุขตลอดดีค่ะ
 พี่แอนน์ : ทำไมถึงเลือกมาเรียนดาว้องก์ น้องบี : มีรุ่นพี่แนะนำมา เรียนดาว้องก์ดีนะได้ทั้งไทย-สังคม ถึงเสียเวลาเยอะกว่าแต่คุ้ม เค้าบอกว่าถึงเรียนจบแล้วมาอ่านหนังสือยังรู้เรื่อง จริงๆ อย่างหนูเรียนเทอม 1 มันต้องอ่านซ้ำ แต่ถ้าเรียนที่อื่นอ่านซ้ำก็ไม่รู้เรื่อง แต่ของอาจารย์เป็นหนังสือแล้วมีให้เติมมันได้แก่นของแต่ละเรื่อง พอมาอ่านอีกรอบจำได้ดีค่ะ
พี่แอนน์ : เวลาว่างทำอะไร น้องบี : เล่นเน็ต ดูทีวีและชอบอ่านหนังสืออ่านเล่น
พี่แอนน์ : ได้ที่ 1 ภาษาไทยได้รางวัลหรือยัง น้องบี : ยังค่ะ แต่คุณแม่บอกว่าอยากได้อะไรให้บอกค่ะ
พี่แอนน์ : ครอบครัวคาดหวังเรื่องเรียนกับน้องบีมั๊ย น้องบี : ช่วงก่อนสอบแล้วรอผลคุณแม่ไม่พูดอะไร ได้เท่าไหร่เท่านั้น เพราะคุณแม่เห็นว่าเราตั้งใจถึงที่สุดแล้วค่ะ
พี่แอนน์ : เกรดเฉลี่ยตอนเรียนได้เท่าไหร่ น้องบี : เกรดเฉลี่ย 3.96 ค่ะ
พี่แอนน์ : เคยกดดันตัวเองในเรื่องเรียนมั๊ย น้องบี : ไม่กดดันค่ะ แต่บางทีเกรดตกมีเครียดบ้าง แต่ไม่ถึงกับกำหนดว่าต้องได้เท่านี้เท่านั้น เกรดตกก็พยามยามมากขึ้นหรือบางทีทำใจไปเลย เพราะมันยากขึ้นค่ะ คุณแม่บอกตลอดว่ายิ่งเรียนยิ่งยากขึ้นคะแนนได้น้อยลงเป็นธรรมดา
พี่แอนน์ : คุณแม่คอยให้กำลังใจด้านการเรียนน้องบีตลอด น้องบี : ใช่ค่ะ คอยบอกว่าไม่ต้องเครียดนะ
พี่แอนน์ : น้องบีมีความคิดเห็นยังไงเกี่ยวกับระบบการศึกษา น้องบี : แบบใหม่ที่น้องจะใช้ในปีต่อไปหรือคะ หนูว่าแบบเก่าดีกว่า คือระบบใหม่ทุกที่มันก็ประหลาดๆ อยู่แล้วใช่มั๊ยคะ ขนาดหนูไปอ่านยังงงๆ เลย รุ่นพี่บอกว่าจุฬาสอบเองอย่างหมอ แล้วคนที่เตรียมตัวมาบางคนไม่คิดว่ามหาวิทยาลัยจะมาสอบเอง หนูว่าไม่ดีเท่าไหร่อย่างเดิมดีแล้วค่ะ
 พี่แอนน์ : อยากสะท้อนอะไรบ้างมั๊ย น้องบี : ทำอะไรให้นึกถึงเด็กบ้าง คนแค่ไม่กี่คนที่เป็นคนจัดการว่าต้องสอบแบบนี้ โดยให้เด็กตั้งไม่รู้กี่หมื่นคนมาทำตามมันไม่ยุติธรรมหรือเปล่า ทำไมไม่ถามความคิดเห็นเด็กว่าอยากสอบแบบไหน อยากให้เป็นแบบไหน ไม่ใช่อยู่ดีๆ ออกมาว่าให้เป็นแบบนี้
พี่แอนน์ : เรื่องค่าใช้จ่ายในการสอบสูงมั๊ย น้องบี : หนูว่าค่าใช้จ่ายมันสูงไปนะ จริงๆ ทุกอย่างเลยค่ะ อย่าง GAT / PAT สอบทีหนึ่งก็ 700-800 บาท นี่อย่างไม่ได้สอบทุกวิชานะคะ แล้วต้องสอบกี่ครั้ง
พี่แอนน์ : อย่างนี้ก็เห็นด้วยกับนโยบายเรียนฟรี 15 ปี น้องบี : เห็นด้วยถ้ามาตรฐานโรงเรียนเท่ากัน แต่ต้องทำใจนิดนึงว่ามันฟรีทุกอย่างไม่ได้ เพราะถ้าอยากได้อะไรที่ดีกว่าต้องยอมเสียบ้างค่ะ
พี่แอนน์ : ฝากอะไรทิ้งท้ายมั๊ย น้องบี : ฝากถึงน้องๆ นะคะ ขอให้ตั้งใจอ่านหนังสือ เหมือนกับเรายอมเหนื่อยทีเดียว แต่ผลที่ได้ทำให้เราภูมิใจและสบายใจไปเลย ไม่ต้องมานั่งเครียดทีหลังค่ะ
|